คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17705/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีแบ่งหน้าที่กันทำโดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. หลอกลวงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า เป็นผู้มีชื่อตามหางบัตรที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการร่วมออกรางวัล ซึ่งจะตักตลับลูกบอลในภาชนะที่ตนอยู่ประจำหลักด้วยวิธีเสี่ยงทาย ความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. มิได้เป็นผู้มีชื่อตามหางบัตรที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ท. ได้ทำเครื่องหมายที่ตลับลูกบอลด้วยสารเคมีตามวิธีการที่วางแผนซักซ้อมกันมา แล้วจะเลือกตักเอาลูกบอลที่มีเครื่องหมายดังกล่าวซึ่งเป็นลูกบอลหมายเลข 1 โดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลที่สาม จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้อง นอกจากนั้นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมประชุมวางแผนแบ่งหน้าที่กันกับจำเลยที่ 2 และพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีเพื่อจะกระทำความผิดดังกล่าว ย่อมเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อตระเตรียมกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานซ่องโจรด้วย
ความผิดฐานซ่องโจรกฎหมายเอาโทษไว้ก็เพราะการที่บุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพียงที่ตกลงกันจะกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ซึ่งแม้ยังไม่ทันได้กระทำความผิด ก็เป็นอันตรายแก่สังคมแล้ว กรณีนี้กรรมในเรื่องการสมคบกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดฐานซ่องโจรได้กระทำสำเร็จไปแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้กระทำกรรมใหม่ขึ้นอีก ด้วยการร่วมกับจำเลยอื่นที่เหลือหลอกลวงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้ได้รับทรัพย์สินจากบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 210, 341, 342 และให้จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์คิดเป็นเงิน 900 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก 341 ประกอบด้วยมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานซ่องโจร จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันฉ้อโกง จำคุกคนละ 2 ปี รวมลงโทษจำคุกคนละ 6 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบด้วยมาตรา 83 เพียงกระทงเดียว จำคุก 2 ปี ให้ยกฟ้องความผิดฐานซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก เฉพาะจำเลยที่ 5 เสีย สำหรับจำเลยอื่นและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง และจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดฐานซ่องโจรตามฟ้องหรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายทองสุขกับพวกดังกล่าวร่วมกันประชุมวางแผนเพื่อแสดงตัวเป็นกรรมการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันเกิดเหตุ แล้วอาศัยโอกาสกัดหลอดพลาสติกบรรจุสารเคมีสีขาวซึ่งอมไว้ เพื่อให้สารเคมีหยดลงในภาชนะบรรจุตลับลูกบอลซึ่งบุคคลทั้งสามประจำอยู่ ก่อนที่พนักงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะบรรจุตลับลูกบอลที่บรรจุลูกบอลหมายเลข 1 ลงไป เพื่อเป็นการทำเครื่องหมายที่ตลับลูกบอลไว้ก่อน แล้วจึงเลือกตักตลับลูกบอลที่ได้ทำเครื่องหมายไว้เป็นผลให้สามารถล็อกเลข คือ กำหนดหมายเลขรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ตามที่ต้องการ คือ หมายเลข 1 ในหลักหน่วยและหลักสิบในการออกรางวัลที่หนึ่ง ได้ความต่อไปว่า หลังจากการประชุมฝึกซ้อมดังกล่าวแล้ว ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 5 นาฬิกา นายมนัสพาจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกดังกล่าวเดินทางไปที่โรงแรมตรัง กรุงเทพมหานคร ใกล้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยนายมนัสจองห้องประชุมและสั่งอาหารไว้สำหรับคนถึง 110 คน ในการประชุมดังกล่าวนอกจากนางพจนีย์ พยานโจทก์ข้างต้นแล้ว ยังมีนายอัตชัย พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งมีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างอยู่ที่วินรถจักรยานยนต์รับจ้างของจำเลยที่ 3 ได้พาคนขับรถจักรยานยนต์ในวินเดียวกันไปที่โรงแรมด้วย โดยได้รับค่าจ้างคนละ 200 บาท แม้ในชั้นพิจารณานายอัตชัยไม่ยืนยันว่าใครเป็นผู้ว่าจ้าง แต่ตามบันทึกคำให้การของพยาน นายอัตชัย ให้การว่า จำเลยที่ 3 ยกเว้นค่าวินรถจักรยานยนต์ให้แก่ผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมชมการออกรางวัลเป็นเวลา 2 วัน คิดเป็นเงิน 200 บาท ส่วนนายอัตชัยได้รับค่าจ้าง 500 บาทสอดคล้องกับบัญชีรายชื่อผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในวินของจำเลยที่ 3 ซึ่งปรากฏว่า มีชื่อซ้ำกับรายชื่อผู้เข้าชมการออกรางวัลสลากหลายรอบ แสดงว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ว่าจ้างนายอัตชัยกับพวก โดยมีจำเลยที่ 4 ซึ่งนาย อัตชัยให้การไว้ชัดเจนว่า เป็นลูกน้องของจำเลยที่ 3 ทำงานอยู่ที่สมาคมสนุ้กเกอร์ของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมในลำดับสุดท้าย ทำหน้าที่พาผู้เข้าร่วมประชุมวางแผนที่โรงแรมตรังทั้งหมดไปชมการออกรางวัลที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จากนั้นจัดให้พวกที่พยานพาไปชมการออกรางวัลมอบหางบัตรให้แก่พวกที่ไปฝึกซ้อมการล็อกเลขมาจากไร่กุสุมารีสอร์ท ทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายทองสุขสามารถแสดงตัวเป็นกรรมการและดำเนินการตามที่วางแผนกันมาได้สำเร็จ ซึ่งนอกจากพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว ยังได้ความจากนายมนัสด้วยว่า หลังจากการออกรางวัลในงวดเกิดเหตุนี้แล้ว นายอนันต์ให้พยานไปที่บ้านของจำเลยที่ 3 เพื่อฝึกซ้อมการล็อกเลขรางวัลสลากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร งวดประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2544 ในครั้งนี้พยานพบจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไปดูการฝึกซ้อมด้วย และในการออกรางวัลงวดล่าสุดนี้ พันตำรวจโทชัดชัยเห็นเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 4 พาพวกประมาณ 80 คน ไปชมการออกรางวัลด้วย แต่เมื่อพนักงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลผู้ดำเนินการออกรางวัลแจ้งว่า จะเปลี่ยนแปลงวิธีการออกรางวัลโดยไม่ให้ประชาชนขึ้นไปร่วมออกรางวัล จำเลยที่ 4 ไม่พอใจและเรียกให้พวกทั้งหมดกลับไปพร้อมกัน จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นชัดยิ่งขึ้นถึงการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังนี้เห็นว่า พยานสำคัญของโจทก์ซึ่งเบิกความเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยคนใดมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยคนใดให้ต้องรับโทษ และแม้ว่าพยานดังกล่าวส่วนมากจะเป็นผู้เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วย แต่ได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจกันไว้เป็นพยาน ไม่เหมือนพยานที่ไร้มลทินมาแต่ต้น แต่พยานดังกล่าวก็เบิกความสอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผล เชื่อว่าพยานเบิกความไปตามความจริงที่รู้เห็นมา พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอีกหลายคนประชุมวางแผนจัดตั้งกลุ่มบุคคลดังกล่าวขึ้น เพื่อล็อกเลขรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันเกิดเหตุ อันเป็นการร่วมกันหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่า ผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการออกรางวัลเป็นผู้ที่มีชื่อตามหางบัตรที่ได้รับเลือกและจะตักตลับลูกบอลเพื่อออกรางวัลโดยการเสี่ยงทาย ทั้งที่ความจริงแล้วมิได้เป็นผู้มีชื่อตามหางบัตรที่แท้จริง ทั้งได้มีการทำเครื่องหมายด้วยสารเคมีสีขาวที่ตลับลูกบอลตามวิธีการที่ซักซ้อมกันมาก่อน แม้การกระทำดังกล่าวจะมิได้มีวัตถุประสงค์ให้ได้ของชำร่วยไปจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งมีราคาเพียงอันละ 300 บาท อันเห็นได้ว่ามีราคาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าจ้างวานคนให้เข้าชมการออกรางวัลสลากประมาณ 70 ถึง 80 คน ต่อครั้ง ซึ่งต้องเสียค่าจ้างอย่างน้อยคนละ 200 บาท ค่าเช่าสถานที่เพื่อฝึกซ้อมที่ไร่กุสุมารีสอร์ท ค่าเช่าห้องประชุมของโรงแรม ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์และค่าพาหนะต่าง ๆ ก็ตาม แต่ได้ความจากพันตำรวจโทประวุธ พนักงานสอบสวนว่า พยานรับแจ้งความจากนายฮุย เจ้ามือสลากกินรวบว่า ถูกจำเลยที่ 5 ฉ้อโกงด้วยการล็อกเลขรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวดประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2544 โดยจำเลยที่ 5 มุ่งเน้นแทงสลากกินรวบ หมายเลข 1 ของรางวัลเลขท้ายสามตัวของรางวัลที่หนึ่ง จนถูกรางวัลเป็นเงินประมาณ 15,000,000 บาท และนายฮุยเป็นพยานโจทก์เบิกความว่า หลังจากจำเลยที่ 5 ถูกรางวัลสลากกินรวบแล้ว พยานโอนเงินให้จำเลยที่ 5 (ศาลจังหวัดสุรินทร์) เป็นเงินประมาณ 3,500,000 บาท พยานต่อรองขอจ่ายเพียงครึ่งเดียว แต่จำเลยที่ 5 ไม่ยินยอม และยังพาจำเลยที่ 3 กับพวกอีกหลายคนไปทวงเงินจากนายฮุยที่บ้านในเขตจังหวัดสุรินทร์ด้วย จำเลยที่ 5 บอกพยานว่า ให้โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 จำนวน 5,000,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ต่างก็เบิกความรับว่า ได้ไปทวงเงินจากนายฮุยจริง นอกจากนี้พันตำรวจโทเชน พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งไปตรวจยึดสมุดบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จำนวน 2 ฉบับ ก็พบว่า จำเลยที่ 2 ได้รับเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารดังกล่าวรวม 380,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นเงินที่ถูกรางวัลสลากกินรวบ และตามบันทึกคำให้การของพยาน นางพจนีย์ให้การว่า ในการประชุมที่โรงแรม ผู้ทำหน้าที่อธิบายในที่ประชุมบอกว่า งวดนี้ให้เลข 11 ใครต้องการก็ให้โทรศัพท์บอกญาติพี่น้อง แสดงว่าการล็อกเลขรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่เกิดเหตุนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฉ้อโกงให้ได้เงินจากเจ้ามือสลากกินรวบด้วย สำหรับจำเลยที่ 5 แม้ไม่ปรากฏชัดว่าได้มีความเกี่ยวข้องมาด้วยตั้งแต่ต้น แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 5 แทงสลากกินรวบโดยมุ่งเน้นแต่หมายเลข 1 จนถูกรางวัลถึง 15,000,000 บาท ทั้งรับว่ารู้จักจำเลยที่ 3 มาก่อนเกิดเหตุหลายปีในวงพนันมวย บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 5 ทราบดีว่ามีการล็อกเลขดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อถูกรางวัลแล้วยังชักชวนจำเลยที่ 3 ให้เดินทางไปทวงเงินจากนายฮุยพร้อมกับจำเลยที่ 5 ที่จังหวัดสุรินทร์ โดยจำเลยที่ 5 บอกนายฮุยให้โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 3 จำนวน 5,000,000 บาท ทำให้เชื่อว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 แบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากการถูกรางวัลสลากกินรวบดังกล่าว ทั้งนายฮุยก็เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 กับพวกไปข่มขู่คุกคามพยานสอดคล้องกับรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน (ศาลจังหวัดสุรินทร์) ที่นายฮุยแจ้งความ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 เวลา 17.30 นาฬิกา ว่า นายฮุยถูกจำเลยที่ 3 และที่ 5 กับพวกรวม 7 คน ข่มขู่เกรงว่าจะได้รับอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงมิใช่เพียงการไปเป็นเพื่อนจำเลยที่ 5 ดังที่อ้าง เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ได้รับเงินบางส่วนไปจากนายฮุยแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีแบ่งหน้าที่กันทำโดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายทองสุขหลอกลวงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า เป็นผู้มีชื่อตามหางบัตรที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการร่วมออกรางวัล และจะตักตลับลูกบอลในภาชนะซึ่งตนได้อยู่ประจำหลักด้วยวิธีเสี่ยงทาย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายทองสุขมิได้เป็นผู้มีชื่อตามหางบัตรที่แท้จริง และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายทองสุขได้ทำเครื่องหมายที่ตลับลูกบอลด้วยสารเคมีตามวิธีการที่วางแผนซักซ้อมกันมา แล้วเลือกตักเอาลูกบอลที่มีเครื่องหมายซึ่งเป็นลูกบอลหมายเลข 1 และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากบุคคลที่สาม อันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมประชุมวางแผนแบ่งหน้าที่กันกับจำเลยที่ 2 และพวกอีกหลายคนที่ยังหลบหนีเพื่อจะกระทำความผิดดังกล่าว จึงเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อตระเตรียมการเพื่อกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหนึ่งปีขึ้นไป การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นความผิดฐานซ่องโจรด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 5 กระทำความผิดฐานซ่องโจรด้วยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การสมคบกันเพื่อกระทำความผิดฐานซ่องโจรมีความหมายกว้างว่า เป็นการร่วมรู้เห็นเป็นใจ มีผลประโยชน์ร่วมกัน หรือแบ่งหน้าที่กันทำ โดยผู้กระทำความผิดไม่จำเป็นต้องร่วมกระทำทุกขั้นตอน จำเลยที่ 5 จึงต้องมีความผิดฐานซ่องโจรด้วยนั้น เห็นว่า ความผิดฐานซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 ผู้กระทำต้องสมคบกันเพื่อกระทำความผิดโดยร่วมกันคบคิดหรือแสดงออกซึ่งความตกลงจะทำความผิดร่วมกัน เช่น ประชุมหรือหารือวางแผนที่จะกระทำความผิด และมาตรา 212 บัญญัติให้เอาความผิดแก่ผู้จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่ซ่องโจร เป็นข้อสนับสนุนให้เห็นถึงองค์ประกอบของความผิดฐานเป็นซ่องโจรให้เห็นเด่นชัดว่า จะต้องมีการคบคิดประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อกระทำความผิดซึ่งมีสภาพเป็นการกระทำระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน เมื่อโจทก์ไม่มีพยานปากใดเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 5 เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือ ร่วมซักซ้อม หรือช่วยเหลือว่าจ้างคนให้เข้าร่วมประชุมในการล็อกเลขรางวัลเพื่อกระทำความผิดด้วยเหมือนกรณีของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่า จำเลยที่ 5 กระทำความผิดฐานซ่องโจร ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีว่า การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นกรรมเดียวกันและควรกำหนดโทษเท่ากัน และความผิดฐานซ่องโจรกับร่วมกันฉ้อโกงตามฟ้องมีลักษณะเกลื่อนกลืนกันด้วยเหตุมีเจตนาเดียวคือจะไปฉ้อโกงเท่านั้น จึงควรลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 และ ที่ 4 เพียงบทเดียว และไม่ควรกำหนดโทษในความผิดฐานซ่องโจรหนักกว่าฐานฉ้อโกงซึ่งได้กระทำสำเร็จหรือไม่ นั้น เห็นว่า การจะวินิจฉัยดังกล่าวข้อสำคัญอยู่ที่ว่า กรรมที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กระทำอันเป็นความผิดฐานใดฐานหนึ่งได้สำเร็จไปแล้วตอนหนึ่ง แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้กระทำกรรมใหม่อันเป็นความผิดขึ้นอีกหรือไม่ หากได้กระทำกรรมใหม่ขึ้นมาอีก ดังนี้จึงเป็นหลายกรรม สำหรับความผิดฐานซ่องโจรนี้กฎหมายเอาโทษไว้ก็เพราะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพียงที่ตกลงกันจะกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ถึงยังไม่ทันได้กระทำความผิด ก็เป็นอันตรายแก่สังคมแล้ว กรณีนี้กรรมในเรื่องการสมคบกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดฐานซ่องโจรได้กระทำสำเร็จไปแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้กระทำกรรมใหม่ขึ้นอีก ด้วยการร่วมกับจำเลยอื่นที่เหลือหลอกลวงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เป็นเหตุให้ได้รับทรัพย์สินจากบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกดังกล่าวจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวดังจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาไม่ และเมื่อตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคแรก ความผิดฐานซ่องโจรมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดฐานฉ้อโกงมาตรา 341 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษที่จะลงแก่ความผิดฐานซ่องโจรหนักยิ่งกว่าฐานฉ้อโกงนั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 5 เป็นประการสุดท้ายมีว่า คดีมีเหตุที่จะลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 5 หรือไม่ ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดจำหน่ายและออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่ประชาชนทั่วไป การดำเนินการจึงต้องเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อให้ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชน การกระทำของจำเลยทั้งห้าที่ล็อกเลขรางวัลเพื่อประโยชน์เฉพาะตัวของตนย่อมกระทบต่อความเชื่อถือของประชาชนต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งเห็นได้ว่าเป็นการมุ่งแสวงหาประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้อื่นและสังคมส่วนรวม จึงเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 ฐานร่วมกันฉ้อโกง มีกำหนด 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะลดโทษหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 5 อีก ฎีกาของจำเลยที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share