คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1769/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วัดจำเลยที่ 1 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วจึงเป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 72 เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนวัด ขณะที่วัดจำเลยที่ 1 ยังไม่มีเจ้าอาวาส จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพระลูกวัดเป็นผู้ติดต่อให้โจทก์มาช่วยสร้างโบสถ์ บอกบุญให้ประชาชนมาร่วมบริจาคเงินสร้างโบสถ์และคิดบัญชีกับโจทก์ เมื่อคิดบัญชีปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยจำเลยที่ 1 ระบุฐานะว่าเป็นตัวแทนคณะกรรมการจัดงานฝังลูกนิมิตวัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ระบุว่าเป็นกรรมการของวัดจำเลยที่ 1 พฤติการณ์เหล่านี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1
เจ้าคณะตำบลอาศัยอำนาจตามกฎหมายมหาเถระสมาคม ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2506) ข้อ 4 วรรคหนึ่ง แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาสตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505
หลังจากจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสอันเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ได้รู้ถึงพฤติการณ์ตามวรรคแรกของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ก็มิได้ทักท้วงหรือเพิกถอนการกระทำดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 หาต้องร่วมรับผิดเป็นส่วนตัวไม่
โจทก์เข้าช่วยเหลือในการสร้างโบสถ์โดยมิได้หวังผลตอบแทนในทางการค้าจากจำเลยที่ 1 การกระทำของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะเป็นผู้ค้าในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ การที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ดอกเงินทดรองไปในการก่อสร้างโบสถ์จึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 165 (7) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 210 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้มอบหมายให้โจทก์สร้างโบสถ์วัดจำเลยที่ ๑ โดยให้โจทก์ทดรองจ่ายค่าวัสดุต่างๆ ไปก่อนและจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แต่ไม่ใช่หนี้โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๕๖,๒๘๔.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะมิได้กระทำในฐานะส่วนตัวและมิได้กระทำแทนจำเลยที่ ๑ เพราะขณะนั้นจำเลยที่ ๑ ยังมิได้เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดด้วย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๗)
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๔๐,๙๓๔.๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๔ ร่วมรับผิดในเงินจำนวน ๒๐,๓๗๙.๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า วัดจำเลยที่ ๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๖ จึงเป็นนิติบุคคลจำพวกวัดวาอารามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒ และเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนวัดขณะเกิดเหตุกรณีที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ วัดจำเลยที่ ๑ ยังไม่มีเจ้าอาวาส จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกวัดเป็นผู้ติดต่อให้โจทก์มาช่วยสร้างโบสถ์ให้ ในการคิดบัญชีหนี้สินในการก่อสร้างโบสถ์ที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน จำเลยที่ ๒ เป็นผู้คิดบัญชีกับโจทก์และเป็นผู้บอกบุญให้ประชาชนมาร่วมบริจาคเงินสร้างโบสถ์ เมื่อคิดบัญชีแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน เป็นเงิน ๒๐,๓๗๙.๒๐ บาท จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ก็ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนดังกล่าวจริง โดยระบุฐานะในหนังสือรับสภาพหนี้ว่าเป็นตัวแทนคณะกรรมการจัดงานฝังลูกนิมิตวัดโคกสำโรง (จำเลยที่ ๑) ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.๒ และจ. ๓ ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำขึ้นก็ได้ระบุฐานะของจำเลยที่ ๓ ว่าเป็นกรรมการของวัดจำเลยที่ ๑ ต่อมาอีกประมาณ ๒ ปี เจ้าคณะตำบลอาศัยอำนาจตามกฎมหาเถระสมาคม ฉบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๐๖) ข้อ ๔ วรรคหนึ่งแต่งตั้งให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส ตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และจำเลยที่ ๒ ดำรงตำแหน่งดังกล่าวนี้มาตลอดมาจนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากจำเลยที่ ๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสกว่า ๕ ปี จำเลยที่ ๒ ในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ รู้ถึงพฤติการณ์อันถือได้ว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ก็มิได้ทักท้วงหรือเพิกถอนการกระทำดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ผู้แทนให้สัตยาบันแก่การกระทำของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ สำหรับฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ว่าเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายส่วนหนึ่งเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนั้น จำเลยที่ ๑ มิได้ยกข้อเท็จจริงที่อ้างอิงในฎีกาขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๗) นั้น ปรากฏว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ ๑ เกิดขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ และในปีเดียวกันนั้นจำเลยที่ ๑ ก็ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ แม้จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันทำหนังสือรับสภาพนี้ แต่โจทก์เข้าช่วยเหลือในการสร้างโบสถ์ก็โดยมีเจตนาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา มิได้หวังผลตอบแทนจากจำเลยที่ ๑ ในทางการค้าการกระทำของโจทก์จึงมิเข้าลักษณะเป็นผู้ค้าในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ การที่โจทก์เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปในการก่อสร้างโบสถ์ให้จำเลยที่ ๑ จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๗) ซึ่งมีอายุความสองปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ถึงแปดปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๑ ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ๑๐,๖๐๕ บาท
ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ใช้เงินให้โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า ในการทำหนังสือรับสภาพหนี้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ กระทำไปโดยเชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ รู้แล้วได้ให้สัตยาบัน จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นตัวแทนของตนแม้หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.๓ ซึ่งจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กับพวกทำขึ้นนั้น จะมีข้อความว่า “ข้าพเจ้า (จำเลยที่ ๒) และคณะกรรมการวัดโคกสำโรงยินยอมให้พระครูพิพัฒน์สิทธิการ (โจทก์) ฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย” ก็มิได้หมายความว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ยอมรับผิดเป็นส่วนตัว เพราะจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทำไปโดยเชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ และตอนต้นของหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับนี้ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าหนี้ที่ยอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์เป็นค่าธูป เทียนทอง เข็มและด้ายที่โจทก์ออกเงินทดรองไปก่อน จำเลยที่ ๓ ก็ได้ระบุฐานะของตนในหนังสือรับสภาพหนี้ฉบับนี้เป็นกรรมการวัดจำเลยที่๑ สิ่งของดังกล่าวก็ได้ใช้ในการผูกพัทธสีมาโบสถ์วัดจำเลยที่ ๑ มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดหนี้ตามฟ้องเป็นส่วนตัว ดังนั้นจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๓๐,๓๖๙.๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share