คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ส. ได้ขับรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุ จนถึงเวลาเช้าของวันเกิดเหตุ และก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะติดตามรถยนต์กระบะไปบ้าน ส. เพื่อตรวจค้นและจับกุม ส. ก็ยังขับรถยนต์กระบะโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองได้นั่งอยู่ในรถยนต์กระบะกับ ส. หรือได้เกี่ยวข้องกับรถยนต์กระบะแต่อย่างใด กลับได้ความว่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจติดตามไปที่บ้านของ ส. พบจำเลยทั้งสองอยู่ที่บ้านของ ส. แต่ ส. ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะได้หลบหนีไปก่อนจะมีการตรวจค้นและจับกุม ดังนี้ จึงไม่อาจเป็นข้อบ่งชี้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางที่ค้นพบในรถกระบะของจำเลยเป็นของจำเลยทั้งสองแต่อาจเป็นของ ส. ก็เป็นได้ แม้โจทก์มีคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุม แต่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาและโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยทั้งสองจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสอง
ศาลจะสั่งริบเมทแอมเฟตามีนให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 116 ได้ต้องเป็นกรณีที่มีการลงโทษตามมาตรา 89 เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องจึงไม่อาจริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขได้ แต่การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเป็นความผิด ศาลริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32
ธนบัตรชนิดต่าง ๆ จำนวน 30,000 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาโดยการกระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งการริบทรัพย์สินเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18(5) จึงต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวและพิสูจน์ความผิดของจำเลยต่อศาลเสียก่อน เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนโดยตรง เพียงแต่กล่าวพาดพิงว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้นจึงยังไม่เป็นการเพียงพอ ศาลไม่อาจริบเงิน30,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 2,800 เม็ด รวมน้ำหนัก 277.800 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 64.700 กรัม ซึ่งมีปริมาณเกินกว่า 0.500 กรัม อันเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศกำหนด ไว้ในครอบครองของจำเลยทั้งสองเพื่อขายอันเป็นการขายวัตถุออกฤทธิ์ เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดวัตถุออกฤทธิ์ 2,800 เม็ด รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียนผ-2435 เชียงราย ซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ซ่อนเมทแอมเฟตามีน และเงิน 30,000 บาท ที่ได้จากการขายเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ,59, 60, 62, 89, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 ริบเงินและรถยนต์ของกลางกับริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือหนัก 240 กรัม ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2522 (ที่ถูก พ.ศ. 2518)มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จำคุกคนละ 12 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุมมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 ปี ริบเงิน 30,000 บาท กับริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือให้กระทรวงสาธารณสุข ส่วนคำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง พันตำรวจตรีสาคร ปู่ไทย จ่าสิบตำรวจนิพล เหมือนชู และสิบตำรวจโทวิโรจน์ แป้นอินทร์ ตรวจค้นรถยนต์กระบะมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน ผ-2435 เชียงราย ของจำเลยทั้งสองพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,800 เม็ด น้ำหนัก 277.800 กรัม และธนบัตรชนิดต่าง ๆ จำนวน 30,000 บาท รวมกันอยู่ในถุงพลาสติกซุกซ่อนอยู่ในช่องเก็บของบริเวณคันเกียร์ของรถยนต์กระบะดังกล่าว มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีสาครเป็นพยานเบิกความว่าก่อนเกิดเหตุ 2 วัน พยานสืบทราบว่ามีสองสามีภริยาซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคเหนือต่อมาทราบภายหลังว่าคือจำเลยทั้งสองจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้นายสมปอง ทับทิมศรี ที่บ้านของนายสมปอง เลขที่ 114 หมู่ที่ 3 ตำบลท่าล้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และโจทก์ยังมีจ่าสิบตำรวจนิพลเป็นพยานเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุพันตำรวจตรีสาครให้พยานกับพวกไปดูความเคลื่อนไหวที่บ้านของนายสมปองตั้งแต่เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ครั้นเวลาประมาณ 13 นาฬิกา พยานรับแจ้งจากสายลับว่านายสมปองขับรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองเข้าไปบ้านของนายสมปองพยานจึงรายงานให้พันตำรวจตรีสาครทราบ พันตำรวจตรีสาครสั่งให้พยานกับพวกนำกำลังไปตรวจค้นบ้านดังกล่าว สำหรับเหตุการณ์ต่อจากนั้นพันตำรวจตรีสาคร จ่าสิบตำรวจนิพลและสิบตำรวจโทวิโรจน์เบิกความต่อไปว่าพยานโจทก์ทั้งสามกับพวกไปถึงบ้านของนายสมปองพบนางสมนึก ทองโตนด มารดาภริยาของนายสมปอง และพบจำเลยทั้งสอง แต่ไม่พบนายสมปอง พยานโจทก์ทั้งสามตรวจค้นตัวบุคคลทั้งสามดังกล่าวไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย จึงได้แสดงหมายค้นและตรวจค้นบ้านพบอาวุธปืนยาวขนาด .22 กระสุนปืนขนาด .22 และแม็กกาซีนสำหรับบรรจุกระสุนปืนขนาด .22 จากนั้นได้ตรวจค้นรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองพบเมทแอมเฟตามีน2,800 เม็ด และธนบัตรชนิดต่าง ๆ 30,000 บาท ของกลาง รวมกันอยู่ในซองพลาสติกซุกซ่อนอยู่ในช่องเก็บของบริเวณคันเกียร์ของรถยนต์กระบะดังกล่าว สอบถามจำเลยทั้งสองรับว่าจำเลยทั้งสองนำเมทแอมเฟตามีนของกลางจากภาคเหนือจะมาส่งมอบให้นายสมปองส่วนธนบัตรของกลางได้จากการขายเมทแอมเฟตามีนพันตำรวจตรีสาครกับพวกจึงจับกุมจำเลยทั้งสอง โดยแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขายและมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนดจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า รถยนต์กระบะมิตซูบิชิหมายเลขทะเบียนผ-2435 เชียงราย เป็นของจำเลยทั้งสอง และพันตำรวจตรีสาครกับพวกตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากรถยนต์กระบะดังกล่าวก็ตามแต่ได้ความจากจ่าสิบตำรวจนิพลเบิกความตอบคำถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุช่วงเวลาเช้าเห็นนายสมปองขับรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองเข้าและออกจากบ้านของนายสมปองหลายครั้ง กับได้ความจากสิบตำรวจโทวิโรจน์เบิกความตอบคำถามค้านว่าก่อนเกิดเหตุ 1 หรือ 2 วัน เห็นนายสมปองขับรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองเข้าออกจากบริเวณบ้านของนายสมปอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งจ่าสิบตำรวจนิพลและสิบตำรวจโทวิโรจน์ต่างเบิกความตอบคำถามค้านอีกว่า ในวันเกิดเหตุก่อนที่พยานโจทก์ทั้งสองจะติดตามไปตรวจค้นและจับกุม ได้รับแจ้งจากสายลับว่านายสมปองกำลังขับรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองไปบ้านของนายสมปอง ทั้งจ่าสิบตำรวจนิพลยังยืนยันอีกว่าเห็นนายสมปองขับรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสอง นอกจากนี้พันตำรวจตรีสาครก็เบิกความตอบคำถามค้านว่า ก่อนจะเข้าตรวจค้นและจับกุมได้รับรายงานจากเจ้าพนักงานตำรวจที่ซุ่มดูว่านายสมปองขับรถยนต์กระบะไปที่บ้านพยานกับพวกจึงเข้าตรวจค้นและจับกุม ยิ่งไปกว่านั้นได้ความจากสิบตำรวจโทวิโรจน์ต่อไปว่า เมื่อพยานกับพวกติดตามไปนายสมปองไหวตัวจึงหลบหนีไปก่อน มีเจ้าพนักงานตำรวจติดตามไปแต่ติดตามตัวไม่พบ ตามคำเบิกความตอบคำถามค้านของพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวแสดงว่า นายสมปองได้ขับรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ก่อนวันเกิดเหตุแม้ในเวลาเช้าของวันเกิดเหตุนายสมปองก็ยังขับรถยนต์กระบะดังกล่าว ใช่แต่เพียงเท่านั้นก่อนที่พันตำรวจตรีสาคร จ่าสิบตำรวจนิพลและสิบตำรวจโทวิโรจน์กับพวกจะติดตามรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองไปบ้านนายสมปองเพื่อตรวจค้นและจับกุม นายสมปองก็ยังขับรถยนต์กระบะของจำเลยโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองได้นั่งอยู่ในรถยนต์กระบะคันดังกล่าวกับนายสมปองหรือได้เกี่ยวข้องกับรถยนต์กระบะดังกล่าวแต่อย่างใด กลับได้ความว่าเมื่อพันตำรวจตรีสาคร จ่าสิบตำรวจนิพล และสิบตำรวจโทวิโรจน์กับพวกติดตามไปที่บ้านของนายสมปองพบจำเลยทั้งสองอยู่ที่บ้านของนายสมปอง ทั้งยังได้ความอีกว่านายสมปองผู้ซึ่งขับรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองได้หลบหนีไปก่อนจะมีการตรวจค้นและจับกุมดังนี้ การที่พันตำรวจตรีสาครกับพวกตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากรถยนต์กระบะของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจเป็นข้อบ่งชี้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยทั้งสองแต่อาจเป็นของนายสมปองก็เป็นได้ ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงมีแต่คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุม เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณาและโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมให้เห็นว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยทั้งสอง คดีโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสองโดยไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลยทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น

อนึ่ง เมทแอมเฟตามีนของกลางซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ศาลจะสั่งริบให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 116 ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการลงโทษตามมาตรา 89 เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง จึงไม่อาจริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามบทบัญญัติได้ แต่การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเป็นความผิด จึงให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 สำหรับธนบัตรชนิดต่าง ๆ จำนวน 30,000 บาท ของกลางที่อยู่รวมกับเมทแอมเฟตามีนของกลางนั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาโดยการกระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งการริบทรัพย์สินก็เป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5) จึงต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวและพิสูจน์ความผิดของจำเลยต่อศาลเสียก่อน เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนโดยตรง เพียงแต่กล่าวพาดพิงว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้นจึงยังไม่เป็นการเพียงพอ ศาลไม่อาจริบเงินจำนวน 30,000 บาท ของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ได้”

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เมทแอมเฟตามีนของกลางให้ริบ แต่เงินจำนวน 30,000 บาท ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ

Share