คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เดิมมารดาโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและเป็นผู้แจ้งการครอบครองโจทก์จำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาได้เลิกร้างแล้วต่างไปมีภรรยาและสามีใหม่ แต่จำเลยและบุตรทำกินในที่พิพาท เมื่อมารดาโจทก์ตายแล้วจำเลยยังทำกินต่อมาและแจ้งเสียภาษีบำรุงท้องที่อ้างว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย การที่โจทก์แจ้งความหาว่าสามีใหม่จำเลยบุกรุกที่พิพาทและจำเลยอ้างต่อตำรวจว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบดีว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือครอบครองที่พิพาทตั้งแต่โจทก์แจ้งความแล้ว โจทก์ฟ้องคดีเมื่อเกินกำหนด 1 ปีโจทก์จึงขาดสิทธิฟ้องร้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ คงมีแต่ใบแจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค.1 เลขที่ 89 หมู่บ้านที่ 1 ตำบลเขาดินอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งนางเข็ม โฉมงาม มารดาโจทก์เจ้าของที่ดินเป็นผู้แจ้ง โจทก์จำเลยเคยอยู่กินเป็นสามีภรรยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน3 คน โจทก์จำเลยได้เลิกร้างแยกกันอยู่มาประมาณสิบกว่าปีแล้ว โดยฝ่ายโจทก์ไปมีภรรยาใหม่ชื่อนางอวน จำเลยมีสามีใหม่ชื่อนายสนิทเกตุรัตน์เมื่อเลิกร้างแยกกันแล้วจำเลยและบุตรครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทมาตลอดโดยโจทก์ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยเลย นางเข็มมารดาโจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2513 โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางเข็มซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนางเข็มเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2520 ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 414/2520 หลังจากนั้นโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินออกไปรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แต่จำเลยคัดค้าน เจ้าพนักงานจึงไม่สามารถออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สำหรับที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้

ที่โจทก์ฎีกาว่า เมื่อโจทก์เลิกร้างแยกกันอยู่กับจำเลย โจทก์ยินยอมให้จำเลยและบุตรครอบครองทำกินในที่ดินพิพาท ถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ จำเลยเพิ่งเปลี่ยนเจตนายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน เมื่อโจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินออกไปรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หลังจากที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกนางเข็มแล้ว ระยะเวลายังไม่เกินกำหนดหนึ่งปีโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทได้นั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ในชั้นแรกโจทก์จำเลยเลิกร้างแยกกันอยู่ โจทก์ยอมให้จำเลยและบุตรครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทโดยโจทก์ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่นางเข็มมารดาโจทก์ก็ยังมีชีวิตอยู่ ถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนนางเข็มมารดาโจทก์ แต่เมื่อนางเข็มถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม2513 ที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่บรรดาทายาทของนางเข็มซึ่งรวมทั้งโจทก์ด้วย ส่วนจำเลยยังคงครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทตลอดมา ปรากฏจากคำเบิกความของนายพิม พิพิธ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านมากว่า 4 ปีแล้วว่า โจทก์จำเลยแย่งกันเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาท โดยโจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามของนางเข็มมารดาส่วนจำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทในนามตนเองมาตั้งแต่นายพิมยังเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอยู่ ประกอบกับโจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2518 โจทก์แจ้งความกล่าวหานายสนิท เกตุรัตน์ สามีใหม่ของจำเลยกับพวกว่านำรถไถไปไถบุกรุกที่ดินพิพาท ขอให้ดำเนินคดีกับนายสนิทกับพวก ซึ่งร้อยตำรวจเอกธงชัย สุนทราชุน ได้จับนายสนิทกับพวกมาดำเนินคดี แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่าในคดีอาญาดังกล่าวจำเลยได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่ฟ้องนายสนิท ฉะนั้น ตามพฤติการณ์ซึ่งจำเลยแจ้งเสียภาษีบำรุงท้องที่โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยกับการที่โจทก์แจ้งความหาว่านายสนิทสามีจำเลยบุกรุกที่ดินพิพาท และจำเลยอ้างต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ย่อมทราบดีแล้วว่า จำเลยได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนเองตั้งแต่ พ.ศ. 2518 แล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2521 จึงเกินกำหนดหนึ่งปี โจทก์จึงขาดสิทธิฟ้องร้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375”

พิพากษายืน

Share