คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046-1047/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารทั้งสองฉบับที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำขึ้นเป็นเอกสารของจำเลยซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้ลงลายมือชื่อของตนเอง มิได้ปลอมลายมือชื่อของผู้ใด และมิใช่เป็นการปลอมหรือเลียนแบบเอกสารอันแท้จริงของผู้ใด แม้ข้อความในเอกสารจะไม่ตรงต่อความจริงหรือเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารหรือปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และ 265 ดังนั้นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จึงไม่เกิดขึ้น
คดีทั้งสองสำนวนโจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ เป็นคดีซึ่งเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน เมื่อคดีของโจทก์ที่ 3 ตามคดีสำนวนหลัง ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้องข้อหาอื่น ส่วนข้อหาฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 สั่งว่าคดีไม่มีมูลให้ยกฟ้อง โจทก์ที่ 3 มิได้อุทธรณ์ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีสำนวนแรกนั้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในอันที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4)
(วรรคสองวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2526)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลรวมการพิจารณา โดยโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องจำเลยทั้งสี่ในข้อหาอย่างเดียวกันว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันปลอมเอกสารสองฉบับ คือสัญญาซื้อขายรถยนต์บรรทุกหนึ่งคันและสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกดังกล่าว แล้วจำเลยทั้งสี่ได้นำเอกสารปลอมทั้งสองฉบับนั้นไปใช้แสดงเป็นพยานเอกสารในศาลในคดีของศาลแพ่ง และจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้นำเอกสารสิทธิทั้งสองฉบับดังกล่าวไปใช้แสดงแก่ร้อยตำรวจตรีปิยะพลพนักงานสอบสวน ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้เบิกความเท็จต่อ ศาลแพ่งว่า ได้มีการซื้อขายและเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจริง ซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดีขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๑๓๗, ๑๗๗, ๒๖๔, ๒๖๕,๒๖๘ และนับโทษทั้งสองคดีติดต่อกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีสำนวนแรกมีคำสั่งประทับฟ้องทุกข้อหาส่วนคดีสำนวนหลังสั่งว่าคดีไม่มีมูลตามมาตรา ๑๓๗ พิพากษายกฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๗ ให้จำคุกและปรับ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารทั้งสองฉบับที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำขึ้นเป็นเอกสารของจำเลยซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ได้ลงลายมือชื่อของตนเองมิได้ปลอมลายมือชื่อของผู้ใด และมิใช่เป็นการปลอมหรือเลียนแบบเอกสารอันแท้จริงของผู้ใดแม้ข้อความในเอกสารจะไม่ตรงต่อความจริงหรือเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารหรือปลอมเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ และ ๒๖๕ เมื่อเป็นเช่นนั้นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ และที่โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ในความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ ด้วยนั้น ปรากฏว่าคดีทั้งสองสำนวนที่โจทก์ทั้งสามฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ในความผิดฐานแจ้งความเท็จ เป็นคดีซึ่งเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน เมื่อคดีของโจทก์ที่ ๓ ตามสำนวนหลังศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้องเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๑๗๗, ๒๖๔, ๒๖๕ และ ๒๖๘ ส่วนความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ สั่งว่าคดีไม่มีมูลให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๓ มิได้อุทธรณ์ จึงไม่มีสิทธิฎีกาในข้อนี้ และมีปัญหาว่าโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ตามสำนวนแรกมีสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ ต่อไปได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในกรณีเช่นนี้ถือได้ว่าความผิดในข้อหาฐานแจ้งความเท็จสำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ในคดีแรกนั้นศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิของโจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ ตามสำนวนแรกในอันที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ในความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๔) แล้ว
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓กระทำผิดอยู่ในขั้นร้ายแรงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ สถานเดียว โดยไม่รอการลงโทษ

Share