คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1764/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อความตามกรมธรรม์ประกันภัยเกี่ยวกับความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่ว่า ผู้รับประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมายเมื่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกเนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัยนั้นมีความหมายว่า ในกรณีที่บุคคลภายนอกได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามกฎหมายในค่าเสียหายอย่างไรแล้วผู้รับประกันภัยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกในนามของผู้เอาประกันภัยดังนั้นเมื่อบุคคลภายนอกซึ่งได้รับบาดเจ็บชอบที่จะเรียกร้องให้ผู้เอาประกันภัยใช้ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 ผู้รับประกันภัยก็ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ด้วย
โจทก์อ้างสำนวนการสอบสวนและเรียกสำนวนการสอบสวนนั้นมาเป็นพยานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วแต่พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนมาหลังจากโจทก์จำเลยสืบพยานเสร็จแล้วหากจำเลยเห็นว่าสำนวนการสอบสวนนั้นไม่ถูกต้องทำให้จำเลยเสียเปรียบจำเลยก็ชอบที่จะอ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามสิทธิที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิได้ห้ามรับฟังพยานเอกสารที่มิได้มีการนำสืบพยานบุคคลประกอบศาลย่อมมีอำนาจรับฟังและใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานเอกสารดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 45,117 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 27,868 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ เพื่อชดใช้ค่าเสียหายในการที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1กระทำละเมิดในทางการที่จ้างทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนโจทก์ทั้งสองไม่เกินคนละ 25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์อ้างส่งเฉพาะคำให้การชั้นสอบสวนของนายผลหรือพล กิ่งพุดซา เมื่อสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะไม่มีโอกาสซักค้านและกล่าวแก้คำให้การของนายผลดังกล่าวรับฟังไม่ได้เพราะโจทก์ไม่นำตัวนายผลหรือพยานบุคคลมาเบิกความรับรองนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่นายเหลือบ ลาภใหม่ ต้องหาว่าขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 แล้วทั้งระหว่างพิจารณาสืบพยาน โจทก์ได้ขอหมายเรียกสำนวนการสอบสวนนั้นจากพนักงานอัยการแล้ว แต่พนักงานอัยการยังไม่ได้ส่งสำนวนการสอบสวนมา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2521 โจทก์นำสืบพยานบุคคลเสร็จโจทก์แถลงว่า หมดพยานบุคคล แต่ยังติดใจอ้างสำนวนการสอบสวนซึ่งอยู่ที่พนักงานอัยการ และพนักงานอัยการแจ้งว่า จะส่งให้ภายหลัง วันที่ 25 กันยายน 2521 จำเลยนำสืบพยานเสร็จ ครั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2521 อัยการจังหวัดนครราชสีมาส่งสำนวนการสอบสวนมาตามหมายเรียก โดยส่งมาเฉพาะรายงานการสอบสวน คำให้การนายผลหรือพล กิ่งพุดซา แผนที่เกิดเหตุ บันทึกการตรวจที่เกิดเหตุ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์อ้างสำนวนการสอบสวนดังกล่าวและการเรียกสำนวนการสอบสวนนั้นมาเป็นพยานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนมาเป็นเวลาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี เมื่อจำเลยเห็นว่า สำนวนการสอบสวนนั้นไม่ถูกต้อง เป็นผลร้ายแก่จำเลยทำให้จำเลยเสียเปรียบ จำเลยก็มีสิทธิอ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 เพื่อนำพยานเข้าสืบหักล้างสำนวนการสอบสวนนั้น แต่จำเลยหาได้ทำเช่นนั้นไม่ส่วนข้อที่จำเลยอ้างว่า คำให้การของนายผลรับฟังไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ได้นำนายผลมาเบิกความประกอบคำให้การนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิได้ห้ามรับฟังพยานเอกสารดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังและใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานอื่นได้

จำเลยที่ 3 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพียงค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่รวมถึงค่าขาดความสามารถประกอบการงาน เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย หมาย ล.1 ข้อ 2.1 มีข้อความว่า”ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก บริษัทจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมาย เพื่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย”ซึ่งมีความหมายว่า ในกรณีที่บุคคลภายนอกได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามกฎหมายในค่าเสียหายอย่างไรแล้ว จำเลยที่ 3 จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกในนามของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บขาหักทำให้เสียหายแก่ร่างกาย โจทก์ทั้งสองชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 444 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดใช้ค่าขาดความสามารถประกอบการงานของโจทก์ทั้งสองด้วย”

พิพากษายืน

Share