คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1764/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีภรรยาต่างทำพินัยกรรมให้แก่กัน พินัยกรรมของภรรยามีข้อความว่า “เมื่อข้าพเจ้าวายชนม์แล้ว บรรดาทรัพย์สินและสิทธิทั้งหลายของข้าพเจ้าซึ่งมีอยู่ในเวลานี้และมีต่อไปภายหน้า ขอให้ตกเป็นกรรมสิทธิแก่สามี(ขุนอุปพงษ์ฯ) ผู้รับพินัยกรรม แต่ถ้าขุนอุปพงษ์ฯถึงแก่กรรมล่วงลับไปก่อนข้าพเจ้าก็ขอให้ทรัพย์สินและสิทธิทั้งหลายของข้าพเจ้าตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ (คุณหญิงเลขวณิชฯ)เป็นผู้รับพินัยกรรม ฯลฯ” และตามพินัยกรรมของสามี (ขุนอุปพงษ์ฯ)ก็มีข้อความทำนองเดียวกัน ยกทรัพย์ให้แก่ภรรยา (นางจันทร์) ถ้านางจันทร์ล่วงลับไปก่อนก็ยกทรัพย์ให้แก่โจทก์ (คุณหญิงเลขวณิชฯ)
ดังนี้เมื่อภรรยา (นางจันทร์)ตายไปก่อน ทรัพย์มรดกของภรรยา(นางจันทร์) ก็ตกได้แก่สามี(ขุนอุปพงษ์) ตามพินัยกรรมสามีย่อมมีสิทธิที่จะยกทรัพย์ให้แก่ผู้อื่นได้ ไม่มีข้อผูกพันตาม กฎหมาย ที่สามี(ขุนอุปพงษ์ฯ)จำต้องยกทรัพย์ให้แก่โจทก์ เพราะทรัพย์นั้นเป็นของสามี(ขุนอุปพงษ์ฯ) โดยเด็ดขาด ตามกฎหมาย สามีมีสิทธิจะยกทรัพย์ให้ใครๆ ก็ได้แล้ว ต่อมาทำพินัยกรรมยกทรัพย์ไปให้ผู้อื่นมิได้ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้กับภรรยา ว่าจะให้โจทก์ก็ตาม ก็ไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเพราะข้อตกลงนั้นฟังได้อย่างมากก็เพียงว่าผู้ทำพินัยกรรมทั้งสองตกลงจะยกทรัพย์ให้แก่โจทก์เมื่อตาย แต่เมื่อมิได้ทำพินัยกรรมยกให้ไว้โดยตรงดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 536 แล้วก็ใช้บังคับไม่ได้ และเรื่องนี้เป็นการยกทรัพย์ให้กันตามพินัยกรรมไม่ใช่เรื่องคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374
ข้อผูกพันให้ทรัพย์ตกได้แก่โจทก์ใช้บังคับมิได้เพราะขัดต่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1707 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 24/2498)

Share