แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้คำร้องทุกข์และคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายคนหนึ่งจะมีผู้เสียหายอีกคนหนึ่งเป็นล่ามแปล ก็เป็นคำร้องทุกข์และคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้พนักงานสอบสวนใช้ผู้เสียหายเป็นล่าม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297, 309, 310, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 6 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 มาตรา 6, 22, 23 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 คืนอาวุธปืน กระสุนปืน 3 นัดของกลางแก่เจ้าของ ริบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ของกลางเพื่อไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข จำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2ที่ 4 และจำเลยที่ 5 กระทำผิดตามฟ้องฐานผิดต่อเสรีภาพ กับมีความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสองมาตรา 310 ประกอบด้วยมาตรา 83 ให้ลงโทษตามมาตรา 309 วรรคสองอันเป็นบทหนักจำคุกคนละ 1 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุกคนละ 2 ปีจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21ตุลาคม 2519 ข้อ 6 ลงโทษจำคุก 8 เดือน และมีความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคม และส่วนใด ๆ แห่งวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498มาตรา 6, 23 ลงโทษจำคุก 4 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี จำเลยที่ 6 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ประกอบกับมาตรา 83 ลงโทษจำคุก 3 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 3 คืนอาวุธปืนและกระสุนปืน 3 นัดแก่เจ้าของ ริบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 6 ฎีกาเพียงว่า คำร้องทุกข์และคำให้การชั้นสอบสวนของนายตาลทุนผู้เสียหายไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะนายมิอูผู้เสียหายอีกคนหนึ่งเป็นล่าม จึงถือเสมือนว่าคดีนี้ไม่มีการร้องทุกข์และสอบสวน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด การร้องทุกข์และคำให้การชั้นสอบสวนของนายตาลทุนผู้เสียหายดังกล่าวแม้จะมีผู้เสียหายอีกคนหนึ่งเป็นล่ามก็ย่อมถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะถือว่าไม่มีการร้องทุกข์และสอบสวนตามฎีกาของจำเลยที่ 6 หาได้ไม่ ฎีกาจำเลยที่ 6ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน