คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ แต่จำเลยที่ 1 กลับกรอกข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1ในการปลอมหนังสือมอบอำนาจด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ไปด้วยในวันที่นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปจดทะเบียนโอนที่ดิน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้นทั้งเป็นสามีภรรยากันมีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการใช้เอกสารปลอมด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,268 และ 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าวตามฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า เมื่อวันที่5 เมษายน 2533 โจทก์ได้กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 500,000บาท ปรากฏตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 และโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความและถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนาทะเบียนบ้านมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนจำนองที่ดิน 2 แปลง แก่จำเลยที่ 1 เป็นประกันเงินกู้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อในช่องพยาน และนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 สำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.3 มิใช่ฉบับที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะฉบับที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยที่ 1นั้นมีข้อความว่า “เอาไว้เพื่อให้จำนองเท่านั้น” สำหรับลายมือชื่อที่มีเครื่องหมายดอกจันกำกับไว้เป็นลายมือชื่อของโจทก์แต่เป็นลายมือชื่อที่ถ่ายสำเนามา ส่วนจำเลยทั้งสองเบิกความว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2533 โจทก์ได้ตกลงขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 757 และ 1232 เอกสารหมาย ล.2และ ล.3 ให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 500,000 บาท โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เอง จำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจแล้วให้โจทก์อ่าน โจทก์เห็นว่าถูกต้องจึงได้ลงลายมือชื่อไว้ และจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยาน ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 นอกจากนี้โจทก์ได้ถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนมอบให้แก่จำเลยที่ 1 หลายชุด ซึ่งมีทั้งที่โจทก์รับรองสำเนาถูกต้องและที่ไม่ได้รับรองสำเนาถูกต้อง จำเลยที่ 1ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่โจทก์เป็นเช็ค เมื่อโจทก์ออกจากบ้านจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 1 เกรงว่าจะมีปัญหาเหมือนเมื่อครั้งที่จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากโจทก์จำนวน 21 แปลง ซึ่งโจทก์ได้ใช้อุบายขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไปจากพนักงานเจ้าหน้าที่จำนวน 17 แปลง จำเลยที่ 1 จึงไปตามโจทก์ที่ธนาคารแล้วพากันมาทำหนังสือสัญญากู้เงินเป็นการค้ำประกัน โดยโจทก์เป็นผู้เขียนหนังสือสัญญากู้เงิน และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ครั้นวันที่ 18 เมษายน 2533 จำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่า จำเลยที่ 1 เคยซื้อที่ดินจากโจทก์ จำนวน 21 แปลง ปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเมื่อพิเคราะห์เอกสารดังกล่าวประกอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 757เอกสารหมาย ล.3 ปรากฏว่าที่ดินจำนวน 21 แปลงดังกล่าวเป็นที่ดินส่วนหนึ่งซึ่งแบ่งแยกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 757 มีเนื้อที่ 10 ไร่ 89 ตารางวา และหนังสือสัญญาจะซื้อขายนั้นทำขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2533 โดยตกลงกันในราคา 1,100,000 บาท ชำระเงินมัดจำในวันทำสัญญา 50,000 บาทส่วนที่เหลือตกลงชำระในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2533 จำนวน 450,000 บาทและชำระภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 อีกจำนวน 600,000 บาทดังนี้ จึงเชื่อว่าช่วงเกิดเหตุคดีนี้คือวันที่ 4 และ 5 เมษายน2533 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ครบกำหนดชำระราคาที่ดิน จำนวน 21 แปลงดังกล่าวแล้ว ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 757 ส่วนที่เหลือจากการแบ่งแยกและขายให้แก่จำเลยที่ 1ดังกล่าวซึ่งมีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 39 ตารางวา ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 1232 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 757 มีเนื้อที่ 7 ไร่ 12 ตารางวา ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 เมื่อรวมกัน 2 แปลง มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 12 ไร่ 3 งาน51 ตารางวา น่าจะมีราคาใกล้เคียงกับราคาที่ดินจำนวน 21 แปลงดังกล่าว แม้ที่ดิน 2 แปลงหลังนี้จะอยู่ด้านหลังที่ดิน 21 แปลงแต่ก็อยู่ติดกันและอยู่ติดทางสาธารณประโยชน์ ทั้งมีเนื้อที่มากกว่าถึง 2 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา จึงไม่น่าจะทำให้ราคาที่ดินต่างกันมากนัก นอกจากนี้ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.3ว่า ลายมือชื่อของโจทก์ที่มีเครื่องหมายดอกจันกำกับไว้นั้นเป็นลายมือชื่อที่ถ่ายสำเนามา และเหนือลายมือชื่อดังกล่าวมีรอยถูกปิดทับแล้วถ่ายสำเนามา จึงเชื่อว่าเป็นการปิดทับข้อความที่โจทก์เขียนไว้ว่า “เอาไว้เพื่อให้จำนองเท่านั้น” ตามคำเบิกความของโจทก์ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 500,000 บาท และทำหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกัน ในทางตรงกันข้าม นอกจากเรื่องราคาที่ดินซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะซื้อขายกันในราคาเพียง 500,000 บาทแล้วหากเป็นการซื้อขายที่ดินกันและจำเลยที่ 1 เกรงจะเป็นปัญหาในภายหลังก็น่าที่จะให้โจทก์ทำเป็นหนังสือสัญญาจะซื้อขายไว้เป็นหลักฐานตามความเป็นจริงที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างและระบุให้ชัดเจนว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินเอง ไม่มีเหตุที่จะให้ทำเป็นหนังสือสัญญากู้เงินและระบุว่าได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้ยึดเป็นประกันตามเอกสารหมายจ.2 คำเบิกความของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เมื่อเป็นดังนี้การที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ แต่จำเลยที่ 1 กลับไปกรอกข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมต้องมีความผิดตามฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 และลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.2 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รู้เรื่องที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 1 และทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ดี ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ดังกล่าวพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการปลอมหนังสือมอบอำนาจด้วย และการปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวก็โดยมีเจตนาจะนำไปใช้ในการจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นของจำเลยที่ 1แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้ไปด้วยในวันที่นำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปจดทะเบียนโอนที่ดิน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1มาตั้งแต่ต้น ทั้งเป็นสามีภริยากันมีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอนจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการใช้เอกสารปลอมด้วยต้องมีความผิดตามฟ้องโจทก์เช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 264, 83 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 6,000 บาท คดีไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวสักครั้งหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

Share