คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17584-17585/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับของการประปานครหลวง ฉบับที่ 60 ว่าด้วยความรับผิดของพนักงานหรือลูกจ้างในทางแพ่ง พ.ศ.2522 ข้อ 7 ระบุว่า “เมื่อผู้ว่าการได้รับรายงานผลการสอบสวนแล้วให้สั่งการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดสี่สิบห้าวัน ตามแต่กรณีดังต่อไปนี้ (ก) ถ้าหากเห็นว่าผู้ใดต้องรับผิด ก็ให้สั่งการเรียกเงินชดใช้ค่าเสียหายให้เสร็จไป หรือให้ทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้ไว้เป็นหลักฐานภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่สั่งการ แต่ถ้าหากผู้ต้องรับผิดคนใดปฏิเสธไม่ยอมชดใช้เงินหรือบิดพลิ้ว ประวิงเวลาหรือ ไม่ยอมทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ ให้สั่งการดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือให้รับสภาพหนี้…” ข้อบังคับดังกล่าวเป็นระเบียบปฏิบัติที่กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาที่ผู้ว่าการการประปานครหลวงจะต้องดำเนินการภายหลังจากที่ได้รับรายงานผลการสอบสวน อันเป็นระเบียบภายในของโจทก์ ทั้งตามข้อบังคับนั้นก็ไม่มีกำหนดห้ามมิให้โจทก์ฟ้องคดีถ้ายังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในข้อบังคับครบถ้วน ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวครบถ้วนหรือไม่ โจทก์ย่อมมีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เพียงว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โดยมิได้ยกเหตุเป็นข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย โดยบรรยายฟ้องถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดทั้งในมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน แม้ความรับผิดของจำเลยทั้งสองจะเกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลา คือ ระหว่างวันที่ 9 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 ก่อน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จะใช้บังคับ หรือระหว่างวันที่ 15 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 หลังวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่เมื่อในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เหตุคดีนี้เกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 26 กันยายน 2549 คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกจำเลยเรียงตามลำดับสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติตามคำสั่งการประปานครหลวง ที่ 404/2541 โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 599.110.63 บาท และ 68,989.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 599,110.63 บาท จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 68,989.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่แต่ละคนจะต้องชำระ นับแต่ผิดนัด คือวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นพนักงานของโจทก์ โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองรายได้ 1 สำนักงานประปาสาขาบางเขนตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2539 ต่อมาได้รับคำสั่งให้รักษาในตำแหน่งหัวหน้าส่วนจัดเก็บและรับเงิน 1 กองรายได้ 1 สำนักงานประปาสาขาบางเขนอีกตำแหน่งหนึ่งเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองรายได้ สำนักงานประปาสาขาลาดพร้าวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 พ้นจากการเป็นพนักงานของโจทก์เนื่องจากเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 จำเลยที่ 2 ยังคงเป็นพนักงานของโจทก์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองรายได้ สำนักงานประปาสาขาสุขุมวิท ก่อนดำรงตำแหน่งดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนจัดเก็บและรับเงิน กองรายได้ สำนักงานประปาสาขาบางเขน นางสาววาสนา นางพัชยา และนางสาวพรปวีณ์ เคยเป็นพนักงานของโจทก์ โดยนางวาสนาตำแหน่งวิทยากร 5 และได้รับการแต่ตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนหัวหน้าส่วนจัดเก็บและรับเงิน 1 ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2539 นางพัชยา ดำรงตำแหน่งนักบัญชี 3 และนางสาวพรปวีณ์ ดำรงตำแหน่งพนักงานรายได้ 2 ระหว่างวันที่ 9 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 นางวาสนา นางพัชยา และนางสาวพรปวีณ์ร่วมกันนำเงินรายได้ของโจทก์ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริตหลายครั้งรวมเป็นเงินจำนวน 3,755,555.58 (ที่ถูก 3,775,555.58) บาท โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้วมีคำสั่งให้ลงโทษปลดนางวาสนา และนางสาวพรปวีณ์ออกจากการเป็นพนักงานตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 27 ธันวาคม 2539 โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนแล้วเห็นว่า นางวาสนา และนางสาวพรปวีณ์ร่วมกันยักยอกเงินรายได้จำนวน 3,745,555.58 บาท บุคคลทั้งสามต้องรับผิดชำระเงินคืนให้แก่โจทก์และให้โจทก์ดำเนินคดีแพ่งและอาญาแก่บุคคลทั้งสามต่อไป สำหรับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของบุคคลทั้งสามในขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนจัดเก็บและรับเงิน 1 มีความผิดเนื่องจากมิได้ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของบุคคลทั้งสามอย่างใกล้ชิดเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นความผิดวินัยตามข้อบังคับของโจทก์ ฉบับที่ 50 ว่าด้วยวินัย การลงโทษพนักงานและการอุทธรณ์คำสั่ง พ.ศ.2540 ข้อ 5 (5) แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงเห็นควรให้ตัดเงินเดือนจำเลยทั้งสอง แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่เสียสละและด้วยความวิริยะอุสาหะ ประกอบกับการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดวินัยเล็กน้อยและเป็นความผิดครั้งแรก จึงมีเหตุอันควรลดโทษให้ภาคทัณฑ์จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง เห็นควรยุติเรื่องสำหรับจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2541 โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนจำเลยทั้งสอง เนื่องจากจำเลยทั้งสองเป็นผู้บังคับบัญชานางวาสนา นางพัชยาและนางสาวพรปวีณ์ในขณะเกิดเหตุโดยจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนจัดเก็บและรับเงิน สำนักงานประปาสาขาลาดพร้าวอีกตำแหน่งหนึ่งในช่วงวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าส่วนจัดเก็บและรับเงิน สำนักงานประปาสาขาบางเขน ในช่วงวันที่ 9 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 คณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดวินัยฐานไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่ ไม่รับผิดชอบและไม่ระมัดระวังรักษาประโยชน์แต่เป็นความผิดวินัยที่ไม่ร้ายแรง จึงให้ลงโทษตัดเงินเดือนจำเลยที่ 1 อัตราร้อยละ 5 รวม 3 เดือน กับให้ภาคทัณฑ์จำเลยที่ 2 ซึ่งต่อมาโจทก์มีคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่จำเลยทั้งสองตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนนั้น และมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 87.70 ส่วน และจำนวน 6.73 ส่วนของค่าเสียหายตามลำดับ โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 599,110.63 บาท และ 68,989.86 บาทตามลำดับภายในเวลาที่กำหนด เมื่อครบกำหนดโจทก์จึงดำเนินการหักเงินเดือนของจำเลยทั้งสองเดือนละ 8,231 บาท และ 1,326.73 บาท ตามลำดับ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 เป็นต้นไป จำเลยทั้งสองจึงยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งการประปานครหลวง ที่ 404/2541 คืนเงินที่โจทก์หักไว้และระงับการหักเงินเดือนดังกล่าว ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินเดือนที่หักไว้คืนให้จำเลยทั้งสอง แต่ไม่เพิกถอนคำสั่งการประปานครหลวง ที่ 404/2541 ตามคดีหมายเลขแดงที่ 3939 – 3940/2549 ผู้ว่าการการประปานครหลวงรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 พนักงานอัยการยื่นฟ้องนางวาสนา นางพัชยาและนางสาวพรปวีณ์ต่อศาลอาญา ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2546 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 50 ปี ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2589/2546 โจทก์โดยนางชวนพิศ ผู้ว่าการของโจทก์ทราบและรู้ตัวผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อบังคับการประปานครหลวง ฉบับที่ 60 ว่าด้วยความรับผิดของพนักงานหรือลูกจ้างในทางแพ่ง พ.ศ.2522 ข้อ 7 มีข้อความระบุว่า “เมื่อผู้ว่าการได้รับรายงานผลการสอบสวนแล้วให้สั่งการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดสี่สิบห้าวัน ตามแต่กรณีดังต่อไปนี้ (ก) ถ้าหากเห็นว่าผู้ใดต้องรับผิด ก็ให้สั่งการเรียกเงินชดใช้เงินค่าเสียหายให้เสร็จไป หรือให้ทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้ไว้เป็นหลักฐาน ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่สั่งการ แต่ถ้าหากผู้ต้องรับผิดคนใดปฏิเสธไม่ยอมรับชดใช้เงินหรือบิดพลิ้ว ประวิงเวลาหรือไม่ยอมทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ ให้สั่งการดำเนินคดีภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นระยะเวลาให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือให้รับสภาพหนี้…” ข้อบังคับดังกล่าวเป็นระเบียบปฏิบัติที่กำหนดให้ผู้ว่าการประปานครหลวงออกคำสั่งภายหลังจากได้รับรายงานผลการสอบสวนแล้วว่ามีขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการอย่างไร มีกำหนดระยะเวลาเท่าไหร่ ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติภายในของโจทก์ อีกทั้งตามข้อบังคับดังกล่าวไม่มีข้อกำหนดห้ามมิให้โจทก์ฟ้องคดีถ้ายังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในข้อบังคับครบถ้วน ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวครบถ้วนหรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมมีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในเรื่องฟ้องเคลือบคลุมนั้น จำเลยทั้งสองเพียงแต่อุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แต่จำเลยทั้งสองมิได้ยกเหตุขึ้นเป็นข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย โดยบรรยายฟ้องถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองเป็นพนักงานของโจทก์ จำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่บกพร่องประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำเงินรายได้ของโจทก์ไปโดยทุจริต เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดทั้งในมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน แม้ความรับผิดของจำเลยทั้งสองจะเกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลา คือ ระหว่างวันที่ 9 เมษายน 2539 ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 ก่อนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จะมีผลใช้บังคับ หรือเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 หลังวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เหตุคดีนี้เกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 26 กันยายน 2549 ฟ้องโจทก์จึงหาขาดอายุความตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share