คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17582/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องค์การค้าของคุรุสภาโอนมาเป็นองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาหรือจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 โดยพนักงานยังคงได้รับเงินเดือนจากองค์การค้าของคุรุสภาไม่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน เมื่อ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นการนำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับแก่กิจการของจำเลยที่ 1 ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ก็ไม่ได้บัญญัติยกเว้นไม่ให้นำมาใช้บังคับแก่หน่วยงานอื่นใดของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนั้น จึงใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาได้
ตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 กำหนดให้การสั่งซื้อสินค้าตามใบสั่งหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 10 ล้านบาท ลงมา ให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุมัติ แต่หากเกินกว่า 10 ล้านบาท ขึ้นไปถึง 20 ล้านบาท ให้ประธานกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุมัติ โจทก์ทำงานด้านจัดซื้อมา 10 ปีเศษ การที่โจทก์เสนอให้แบ่งการจัดซื้อออกเป็นงวด ๆ เพื่อให้แต่ละงวดมีวงเงินไม่เกินอำนาจของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา จนในที่สุดมีการอนุมัติตามที่โจทก์เสนอแนะ เป็นกรณีที่โจทก์มีเจตนาเสนอให้มีการหลีกเลี่ยงระเบียบคำสั่งเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้เพื่อป้องกันความเสียหายด้านการเงิน ทั้งการกระทำของโจทก์เปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อได้โดยง่ายจึงเป็นการกระทำผิดวินัยเป็นกรณีที่ร้ายแรง โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน 18,464,636.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 16,010,434 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหาย 1,050,000 บาท ค่าชดเชย 383,400 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 26,838 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 21,726 บาท และเงินบำเหน็จ 690,120 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2547 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินบำเหน็จ นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 พฤษภาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันได้ความว่า คุรุสภาจัดตั้งขึ้นมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มาตรา 4 พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ในมาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มาตรา 7 บัญญัติให้มีคุรุสภา และมาตรา 67 บัญญัติให้มีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (จำเลยที่ 1) โดยให้คุรุสภาและจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ คู่ความไม่โต้แย้งความมีอยู่และความถูกต้องของเอกสาร
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มาตรา 5 (3) บัญญัติให้คุรุสภามีรายได้จากผลประโยชน์จากการจัดตั้งองค์การจัดหาผลประโยชน์ของคุรุสภาและตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 ข้อ 1 ระบุว่า วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาก็เพื่อจัดหาผลประโยชน์ให้แก่คุรุสภา หมายความว่าคุรุสภาเป็นผู้จัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นเองเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่คุรุสภา ไม่ใช่การจัดตั้งโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา องค์การค้าของคุรุสภาจึงไม่ใช่องค์การที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 ตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มาตรา 4 บัญญัติให้คุรุสภาผู้เป็นเจ้าขององค์การค้าของคุรุสภาเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกระทรวงศึกษาธิการ มาตรา 6 บัญญัติให้คุรุสภามีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการจัดการศึกษาโดยทั่วไป รวมทั้งการปกครองดูแลและคุ้มครองสิทธิของผู้ประกอบวิชาชีพครูโดยเฉพาะ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลหรือดำเนินการใด ๆ แก่ประชาชนทั่วไป เมื่อพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2534 บังคับใช้ มาตรา 26 ก็ไม่ได้บัญญัติให้คุรุสภาเป็นส่วนราชการของกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 มาตรา 3 และตามหมวด 18 ที่ว่าด้วยกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ได้บัญญัติให้คุรุสภาเป็นส่วนราชการของกระทรวงศึกษาธิการเช่นกัน ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า การที่องค์การค้าของคุรุสภาโอนมาเป็นองค์การค้าของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 พนักงานยังคงได้รับเงินเดือนจากองค์การค้าของคุรุสภา ไม่ได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน เมื่อพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ไม่ได้บัญญัติยกเว้นการนำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับแก่กิจการของจำเลยที่ 1 ทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ก็ไม่ได้บัญญัติยกเว้นไม่ให้นำมาใช้บังคับแก่หน่วยงานอื่นใดของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะในลักษณะของจำเลยที่ 1 ด้วยแล้ว จำเลยที่ 1 จึงอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 รวมทั้งโจทก์ด้วย ดังนั้น จึงใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่า การกระทำของโจทก์ในกรณีขออนุมัติซื้อสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬาเป็นการทำผิดวินัยหรือไม่ เป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประวัติย่อของโจทก์ ปี 2531 ทำหน้าที่หัวหน้าหมวดซื้อวัสดุ 2 ปี 2536 โจทก์เป็นหัวหน้าหน่วยบริหารงานจัดซื้อจัดหากลาง วันที่ 9 มีนาคม 2541 โจทก์เป็นหัวหน้าส่วนจัดซื้อและทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าหน่วยบริหารงานจัดซื้อจัดหากลางจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2542 รวมเป็นเวลาที่โจทก์ทำงานด้านจัดซื้อถึง 20 ปีเศษ จากนั้นโจทก์จึงดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ต่อมาจึงรักษาการหัวหน้าฝ่ายวางแผนการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2543 จนดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายวางแผนการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2543 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2543 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุคดีนี้ ในระหว่างที่โจทก์ทำงานด้านจัดซื้ออยู่นั้น ปรากฏว่าวันที่ 21 มิถุนายน 2542 คุรุสภาทำสัญญาการเป็นผู้จัดจำหน่ายกับบริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด วันที่ 30 มิถุนายน 2542 องค์การค้าของคุรุสภาออกคำสั่ง ที่ 182/2541 – 42 เรื่อง ปรับปรุงโครงสร้าง ตั้งหน่วยงาน แต่งตั้งและโอนสังกัดเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาในภาคการค้า หลังจากโจทก์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายวางแผนการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว วันที่ 24 เมษายน 2544 บริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด ทำใบเสนอราคาสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬาประกอบด้วยชุดกีฬากรีฑาฯ รวม 12 รายการ จำนวนรายการละ 1,500 ชุด วันที่ 30 เมษายน 2544 บริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด ทำใบเสนอราคาสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬา 12 รายการ จำนวนรายการละ 1,500 ชุด ซึ่งเป็นรายการและจำนวนเดียวกับใบเสนอราคาลงวันที่ 24 เมษายน 2544 วันที่ 9 พฤษภาคม 2544 บริษัทศูนย์การศึกษานครพิงค์ จำกัด สั่งซื้อสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬา 16 รายการ รายการละ 3,000 ชุด ในจำนวนที่สั่งซื้อมี 12 รายการ ที่ตรงตามใบเสนอราคาของบริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด วันที่ 11 พฤษภาคม 2544 โจทก์ในฐานะหัวหน้าฝ่ายวางแผนการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำบันทึกถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาว่า บริษัทศูนย์การศึกษานครพิงค์ จำกัด สั่งซื้อสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬา 12 รายการ รายการละ 3,000 ชุด ซึ่งระบุรายการตรงกับใบเสนอราคาลงวันที่ 24, 30 เมษายน 2544 ของบริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด โดยโจทก์เสนอต่อผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาให้ “พิจารณา 1. อนุมัติจัดซื้อ 12 รายการ เป็นเงิน 17,100,000 บาท 2. หากอนุมัติตาม 1. เห็นควรมอบ ฝช. (ฝ่ายจัดซื้อ) ดำเนินการจัดซื้อทยอยส่งคลัง 2 (ส่วนคลังสินค้า 2) 2 งวด ๆ ละ 1,500 ชุด (12 รายการ)” ส่วนรายการตามหนังสือสั่งซื้อชุดกีฬาเซปักตะกร้อฯ รวม 4 รายการ รายการละ 3,000 ชุด ไม่มีการกล่าวถึงและไม่มีการดำเนินการใด ๆ อีกเลย การที่คุรุสภา (องค์การค้าของคุรุสภา) ทำสัญญาเป็นผู้จัดจำหน่ายกับบริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด โดยระบุรายการสินค้าของบริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด ที่องค์การค้าของคุรุสภาต้องซื้อนำไปจัดจำหน่ายไว้ตามเอกสารผนวกซึ่งครอบคลุมถึงสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬาทั้ง 16 รายการ ที่บริษัทศูนย์ศึกษานครพิงค์ จำกัด สั่งซื้อจากองค์การค้าของคุรุสภาด้วย แต่ปรากฏตามสัญญาข้อ 4 ว่า องค์การค้าของคุรุสภาจะซื้อสินค้าตามเอกสารผนวกไม่ต่ำกว่า 5,000 ชิ้นหรือเล่ม ต่อสินค้า 1 รายการ ที่ตกลงซื้อขายกัน โดยต้องทยอยซื้อให้ครบ 5,000 ชิ้นหรือเล่ม ดังกล่าวภายใน 90 วัน นับแต่วันถัดจากวันสั่งซื้อครั้งแรก หมายความว่าองค์การค้าของคุรุสภาต้องสั่งซื้อสินค้าก่อนแล้วจึงต้องสั่งซื้อสินค้ารายการเดียวกันนี้ให้ครบ 5,000 ชิ้นหรือเล่ม ภายใน 90 วัน นับแต่วันสั่งซื้อครั้งแรก สำหรับสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬานั้น องค์การค้าของคุรุสภาไม่ได้สั่งซื้อมาก่อน จึงไม่อยู่ในข้อสัญญาที่ต้องสั่งซื้อภายใน 90 วัน การสั่งซื้อสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬาตามบันทึกของโจทก์ไม่ใช่กรณีที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามสัญญาฉบับนี้ ตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 ข้อ 10 ก. ในการสั่งซื้อสินค้าตามใบสั่งหนึ่ง ๆ ตั้งแต่ 10,000,000 บาท ลงมา ให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุมัติ ข. เกินกว่า 10,000,000 บาท ขึ้นไปถึง 20,000,000 บาท ให้ประธานกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้อนุมัติ ดังนั้น ราคาสั่งซื้อสินค้าสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬา 12 รายการ รายการละ 3,000 ชุด จากบริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด เพื่อมาขายให้บริษัทศูนย์การศึกษานครพิงค์ จำกัด ด้วยใบสั่งซื้อเพียงฉบับเดียวเป็นเงิน 17,100,000 บาท จึงเกินอำนาจสั่งซื้อของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา ที่โจทก์เสนอให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาพิจารณาอนุมัติซื้อนั้น ตามคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาที่ 11/2538 – 39 เรื่อง หลักเกณฑ์มอบอำนาจการซื้อสินค้าและวัสดุหรืออุปกรณ์ ข้อ 1. การขออนุมัติจัดซื้อหมายความถึงการขออนุมัติซื้อในจำนวนของสิ่งของ ข้อ 2. การจัดซื้อหมายถึงวงเงินการจัดซื้อครั้งละโดยจัดซื้อจากผู้จำหน่ายรายเดียวกันและในวันเดียวกัน ข้อเสนอของโจทก์ตามบันทึกลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2544 ให้ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาพิจารณาอนุมัติซื้อสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬา 12 รายการ เป็นการดำเนินการตามคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาที่ 11/2538 – 39 ข้อ 1. แต่ข้อเสนอที่ให้ดำเนินการจัดซื้อเป็น 2 งวด งวดละ 12 รายการ รายการละ 1,500 ชุด เป็นการเสนอให้มีการหลีกเลี่ยงความหมายของคำว่า “การจัดซื้อ” ตามข้อ 2. ที่เป็นวงเงินจัดซื้อแต่ละครั้งจากบริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด ผู้จำหน่ายเพียงรายเดียวและในวันเดียวกัน ซึ่งจำนวนเงินที่จัดซื้อในครั้งเดียวถูกจำกัดวงเงินซื้อสินค้าของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาไม่ให้เกิน 10,000,000 บาท ปรากฏตามคำนำในเอกสารว่า องค์การค้าของคุรุสภาจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 สำหรับเป็นคู่มือในการจัดซื้อจัดจ้าง หมายความว่า องค์การค้าของคุรุสภาใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งในข้อ 22 วรรคสอง ระบุว่า “การแบ่งซื้อหรือแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จัดซื้อหรือจัดจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนดโดยวิธีหนึ่งวิธีใด หรือเพื่อให้อำนาจสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนไปจะกระทำมิได้” บันทึกของโจทก์ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2544 ระบุชัดแจ้งว่า การจัดซื้อครั้งนี้เป็นสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬา 12 รายการ รายการละ 3,000 ชุด เป็นราคา 17,100,000 บาท ซึ่งเกินอำนาจซื้อของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา ทั้งที่บริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด ส่งใบเสนอราคามาแล้ว 2 ฉบับ ฉบับละ 12 รายการ รายการละ 1,500 ชุด รวมเป็นจำนวน 12 รายการ รายการละ 3,000 ชุด หมายความว่า บริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด มีสินค้าพร้อมส่งให้องค์การค้าของคุรุสภาครบถ้วน ตามจำนวนที่บริษัทศูนย์การศึกษานครพิงค์ จำกัด สั่งซื้อ แต่โจทก์เสนอให้แบ่งการจัดซื้อออกเป็น 2 งวด โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลหรือความจำเป็นใด มีผลทำให้การชำระราคาสินค้า 17,100,000 บาท ถูกแบ่งออกเป็น 2 งวด ด้วย แต่ละงวดเป็นเงิน 8,550,000 บาท ซึ่งอยู่ในอำนาจซื้อของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา แสดงว่าโจทก์เจตนาเสนอให้มีการหลีกเลี่ยงระเบียบของคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 ข้อ 10 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 22 วรรคสอง พฤติการณ์ทั้งหมดตั้งแต่บริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด ทำใบเสนอราคาลงวันที่ 24, 30 เมษายน 2544 ส่งมายังองค์การค้าของคุรุสภาตั้งแต่ยังไม่มีใบสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าขององค์การค้าของคุรุสภา โดยแต่ละฉบับมี 12 รายการ รายการละ 1,500 บาท เป็นราคาสินค้าฉบับละ 8,550,000 บาท วันที่ 18 พฤษภาคม 2544 บริษัทศูนย์การศึกษานครพิงค์ จำกัด มีหนังสือสั่งซื้อสินค้า 12 รายการ รายการละ 3,000 ชุด กับอีก 4 รายการ รายการละ 3,000 ชุด มายังองค์การค้าของคุรุสภา วันที่ 11 พฤษภาคม 2544 โจทก์ทำบันทึกถึงผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเสนอให้อนุมัติจัดซื้อสินค้า 12 รายการ ที่ตรงกับใบเสนอราคาของบริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด รายการละ 3,000 ชุด ตรงกับจำนวนที่บริษัทศูนย์การศึกษานครพิงค์ จำกัด สั่งซื้อ แต่โจทก์เสนอให้แบ่งการจัดซื้อเป็น 2 งวด งวดละ 12 รายการ รายการละ 1,500 ชุด ซึ่งเท่ากับราคาสินค้างวดละ 8,550,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจซื้อสินค้าของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา จนในที่สุดผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาสั่งอนุมัติตามที่โจทก์เสนอแนะและฝ่ายจัดซื้อผู้มีหน้าที่จัดซื้อสินค้าเพื่อจำหน่าย ก็จัดซื้อสินค้าเป็น 2 งวด ตามที่โจทก์เสนอแนะตามใบสั่งซื้อของคุรุสภา (องค์การค้าของคุรุสภา) ส่วนรายการตามหนังสือสั่งซื้ออีก 4 รายการ รายการละ 3,000 ชุด ซึ่งอยู่ในเอกสารผนวกที่องค์การค้าของคุรุสภาต้องซื้อจากบริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด ด้วย โจทก์ไม่ได้ดำเนินการเลยโดยไม่มีเหตุผลว่า เหตุใดจึงไม่จัดซื้อมาเพื่อขายให้เป็นรายได้ขององค์การค้าของคุรุสภา การกระทำทั้งหมดเป็นการดำเนินการเป็นขบวนการ มีการส่งต่อการดำเนินการเป็นทอด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์เป็นผู้ทำงานด้านจัดซื้อเป็นเวลา 10 ปีเศษ ก่อนมีการเสนอให้จัดซื้อสื่อวีดิทัศน์พร้อมหนังสือคู่มือชุดกีฬาในครั้งนี้ ระเบียบคำสั่งขององค์การค้าของคุรุสภาที่ใช้มาตั้งแต่ที่โจทก์ทำงานจัดซื้อก็ยังคงใช้บังคับอยู่ โจทก์อ้างไม่ได้ว่าไม่รู้ระเบียบคำสั่งนั้น โจทก์เจตนาเสนอให้มีการหลีกเลี่ยงระเบียบคำสั่งเกี่ยวกับการเงินที่จำกัดอำนาจของผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาไว้ อันเป็นระเบียบที่ใช้เพื่อป้องกันความเสียหายด้านการเงินขององค์การค้าของคุรุสภา ให้การจัดซื้อสินค้าที่มีราคาตามใบสั่งแต่ละฉบับที่เกิน 10,000,000 บาท ต้องได้รับการกลั่นกรองจากผู้ที่มีอำนาจเหนือผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นไปตามลำดับ การกระทำของโจทก์เป็นการเสนอแนะให้มีการสั่งซื้อโดยฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการเงิน ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เจตนาหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการเงินโดยเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมากถึง 17,100,000 บาท เปิดช่องให้มีการทุจริตในการจัดซื้อได้ง่าย เป็นการกระทำผิดวินัยเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาตามระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2518 ข้อ 30 (2) (5) อันเป็นกรณีร้ายแรง ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าการกระทำของโจทก์ในกรณีซื้อหนังสือ 171 รายการ จากบริษัทต้นอ้อ 1999 จำกัด เป็นการทำผิดวินัยหรือไม่ เป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ และคำฟ้องในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ ตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share