คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องได้ร่วมออกเงินกับ ส. คนละครึ่งซื้อที่ดินแปลงหนึ่งนั้น กรณีเป็นเรื่องที่ผู้ร้องครอบครองที่ดินของตนเองมิใช่ครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องกับนายสง่า ทองสัมฤทธิ์ ได้ร่วมกันออกเงินคนละครึ่งซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 5746 แต่ใส่ชื่อนายสง่า เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดไว้เพียงผู้เดียว โดยนายสง่าได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ร้องไปจัดการโอนเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมเอาเอง ต่อมานายสง่าได้เอาที่ดินทั้งแปลงไปจดทะเบียนจำนองไว้ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถจดทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมได้ ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เนื้อที่ประมาณกึ่งหนึ่งโดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว จึงขอให้ศาลสั่งว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวกึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘เห็นว่าตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องได้อ้างว่าผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5746 ตำบลคลองอุดมชลจร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่แล้วกึ่งหนึ่ง โดยผู้ร้องได้ร่วมออกเงินกับนายสง่า ทองสัมฤทธิ์คนละครึ่งซื้อที่ดินแปลงนี้มาจากเจ้าของเดิม จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องครอบครองที่ดินของผู้ร้องเอง แม้ผู้ร้องกล่าวว่าได้ใช้สิทธิครอบครองโดยสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ก็มิได้อ้างว่าเป็นการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งในคำขอท้ายคำร้อง ผู้ร้องก็มิได้ขอให้ศาลสั่งแสดงการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของบุคคลอื่น โดยการครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นอยู่กึ่งหนึ่งโดยชอบอยู่แล้ว จึงจะขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ซ้ำอีกหาได้ไม่ ส่วนเหตุขัดข้องของผู้ร้องที่ไม่สามารถลงชื่อเป็นเจ้าของร่วมในโฉนดที่ดินได้นั้น ก็เป็นกรณีที่ผู้ร้องจะต้องเสนอคดีต่อศาลให้ตรงกับรูปเรื่อง คำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ศาลจะทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share