แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท ตามที่โจทก์จะพิจารณาอนุญาต ตามวิธีและประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีของธนาคาร และจำเลยที่ 3 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่ใช่สัญญากู้เพราะจำนวนที่กู้ไม่แน่นอนสุดแท้แต่โจทก์ผู้ให้กู้จะอนุญาต และเมื่อสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าจำเลยที่ 3 รับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาท จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 เต็มจำนวนเมื่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกกัน
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน 75,527 บาท 75 สตางค์ แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม2519 จนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน 35,359 บาท 60 สตางค์ แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 กันยายน 2511 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระเงินแก่โจทก์ 10 ครั้ง รวมเป็นเงิน 16,000 บาท แต่ละครั้งให้หักชำระดอกเบี้ยก่อน หากเหลือให้หักชำระเงินต้น แล้วคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่เหลือจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า หากสัญญาค้ำประกันต่อมีผลบังคับ จำเลยที่ 3 ควรมีความรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เพียงต้นเงินไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น ในเรื่องนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีข้อ 1 กล่าวว่า ผู้กู้ได้ขอกู้เงินจากผู้ให้กู้เป็นจำนวนไม่เกิน20,000 บาท ซึ่งตกลงกันว่าผู้กู้จะเบิกไปจากผู้ให้กู้ตามจำนวน ตามเวลาที่ผู้กู้ต้องการและตามที่ผู้ให้กู้จะพึงอนุญาตตามที่เห็นสมควร และวิธีและประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีของธนาคาร บรรดาใบเบิกของผู้กู้ซึ่งจะเป็นเช็คหรือเอกสารในรูปใด ๆ ก็ดีที่จะเป็นหลักฐานแห่งเงินกู้รายนี้ ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งสัญญา และเงินอันผู้กู้จะพึงเบิกไปจากผู้ให้กู้ตามใบเบิกเช่นว่านั้น เป็นหนี้เงินกู้ตามสัญญานี้เช่นกัน ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด มิใช่สัญญากู้ จำนวนเงินที่ขอกู้ไม่แน่นอนสุดแท้แต่ผู้ให้กู้จะอนุญาต ตามสัญญาค้ำประกันก็ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าผู้ค้ำประกันรับผิดจำกัดเพียง 20,000 บาท เป็นแต่เท้าถึงสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นหนี้ประธานเท่านั้น ดังนั้นจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 เต็มจำนวนเมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเลิกกันมิใช่รับผิดเพียงต้นเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย”
พิพากษายืน