แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กองกฎหมายและคดีได้ทำบันทึกให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับทราบถึงการตายของ ย.เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลงลายมือชื่อรับทราบการตายของ ย. ในวันนั้นโดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นถือได้ว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพิ่งทราบการตายของ ย. ในวันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 เมษายน2541 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รู้ถึงความตายของ ย. ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนตามพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารราชการกรุงเทพมหานคร การนับอายุความจึงต้อง เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรู้ถึง การตายของ ย. มิใช่นับแต่วันที่สำนักงานเขตบางกอกน้อย รับแจ้งการตายของ ย.แม้สำนักงานเขตดังกล่าวเป็นหน่วยงานของโจทก์ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมของนายย่งจุ้ย แซ่โง้วโดยเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย นายย่งจุ้ยเสียชีวิตไปแล้วจำเลยจึงต้องรับผิดในทรัพย์สินกองมรดกของนายย่งจุ้ยซึ่งตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมาย นายย่งจุ้ยเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารตึกแถว 3 ชั้น จำนวน 8 ห้อง และตึกแถว 2 ชั้น จำนวน34 ห้อง ตั้งอยู่เลขที่ 204, 206, 208, 210, 214, 216, 218,220, 214/1-17, 210/1-17 ซอยอ่อนนุช แขวงพระโขนง เขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องรับผิดภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2531 รวมค่าภาษีและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 64,185 บาท ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่านายย่งจุ้ยได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายย่งจุ้ยจึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ค้างต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าภาษีโรงเรือนและเงินเพิ่มจำนวน 64,185 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เนื่องจากได้มีการแจ้งการเสียชีวิตของนายย่งจุ้ยต่อสำนักงาน เขตบางกอกน้อยเมื่อปี 2533 ซึ่งนายพิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครย่อมต้องทราบถึงการตายของนายย่งจุ้ยเกินกว่า 1 ปีแล้ว เพราะนายพิจิตตเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2539 โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541 ซึ่งเป็นเวลาเกือบ 2 ปี นับแต่วันที่รับตำแหน่ง คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยในฐานะทายาทของนายย่งจุ้ย แซ่โง้ว รับผิดชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินและเงินเพิ่ม จำนวน 64,185 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า นายย่งจุ้ยตายเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2533 ได้แจ้งการตายต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเขตบางกอกน้อย เมื่อวันที่ 10กุมภาพันธ์ 2533 แม้โจทก์จะเป็นนิติบุคคลมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้กระทำการแทนแต่สำนักงานเขตบางกอกน้อยเป็นหน่วยงานตัวแทนของโจทก์จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ทราบการตายของนายย่งจุ้ยตั้งแต่วันที่10 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม แล้วนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายไกรสิทธิ์ ทองโชค นิติกรของโจทก์เบิกความว่า ทางกองกฎหมายและคดีได้ทำบันทึกให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรับทราบถึงการตายของนายย่งจุ้ยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 ตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 25 และนายพิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงลายมือชื่อรับทราบการตายของนายย่งจุ้ยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่า นายพิจิตตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพิ่งทราบการตายของนายย่งจุ้ยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้รู้ถึงความตายของนายย่งจุ้ย ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่จำเลยอ้างว่าสำนักงานเขตบางกอกน้อยเป็นหน่วยงานตัวแทนของโจทก์จึงต้องถือว่าโจทก์รับทราบตั้งแต่มีการรับแจ้งการตายของนายย่งจุ้ยนั้น เห็นว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรู้ถึงการตายของนายย่งจุ้ยมิใช่นับแต่วันที่สำนักงานเขตบางกอกน้อยรับแจ้งการตายของนายย่งจุ้ย
พิพากษายืน