คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1747/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การชำระดอกเบี้ยเงินกู้ไปร้อยละ 2 ต่อเดือน แม้เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่ก็เป็นเรื่องที่ชำระหนี้ด้วยความสมัครใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน
คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องทายาทของผู้กู้(ซึ่งถึงแก่กรรม)เรียกต้นเงินและดอกเบี้ยตั้งแต่วันค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคือวันที่ 26 กรกฎาคม 2513 ทายาทยอมใช้เงินต้นที่ค้างและดอกเบี้ยตามฟ้อง ต่อมาทายาททราบว่าจำเลยได้รับชำระดอกเบี้ยไปก่อนวันที่ 26 กรกฎาคม 2513 จำนวนหนึ่งแล้ว จึงฟ้องเรียกเงินนั้นคืน ดังนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะมิใช่เป็นคดีที่มีประเด็นอย่างเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรและเป็นทายาทผู้รับมรดกของนางแม้นซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2518 จำเลยได้ฟ้องนายจำรัสในฐานะเป็นทายาทผู้รับมรดกของนางแม้นตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 91/2518ของศาลชั้นต้นว่านางแม้นค้างชำระหนี้เงินที่กู้จากจำเลยเป็นเงิน 19,000 บาทและค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2513 เป็นต้นมา ผลแห่งคดีได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยนายจำรัสยอมนำเงินจากกองมรดกชำระเงินกู้ที่ค้าง 19,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยชั่งละบาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2513 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดซึ่งความจริงแล้ว นางแม้นได้ชำระดอกเบี้ยให้ตัวแทนของจำเลยรับไว้แล้ว 8,500 บาท และได้บันทึกการรับดอกเบี้ยไว้ที่ด้านหลังสัญญากู้ แต่จำเลยปกปิดความจริงโดยแสดงหลักฐานภาพถ่ายสัญญากู้เพียงด้านหน้า นายจำรัสหลงเชื่อจึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปดังกล่าว ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของนางแม้นต้องชำระดังกล่าวแก่จำเลยเกินจำนวนหนี้ที่แท้จริงไป 8,500 บาท เงินจำนวนนี้เป็นลาภมิควรได้ซึ่งจำเลยต้องคืนแก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงิน 8,500 บาท ดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

ต่อมาโจทก์ถึงแก่กรรม นางชื่นจิตรภริยาโจทก์ยื่นคำร้องเข้าเป็นคู่ความแทนผู้มรณะศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยให้การว่า เคยเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของนางแม้นและได้ฟ้องนายจำรัสในฐานะผู้รับมรดกของนางแม้นจริงปรากฏตามสำนวนคดีแพงแดงที่ 91/2518 ของศาลชั้นต้น ฟ้องของจำเลยไม่เป็นความเท็จไม่ปิดบังความจริง นางแม้นทำสัญญากู้เงินไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์2512 ทำสัญญากันไว้จากวันที่ 26 กรกฎาคม 2513 นางแม้นไม่เคยชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยเลยจนถึงแก่กรรมไป จำเลยจึงฟ้องนายจำรัสในฐานะผู้รับมรดกนางแม้นดังกล่าว และคดีนั้นถึงที่สุดไปแล้วโดยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งศาลได้พิพากษาไปตามยอมแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้รับมรดกของนางแม้นอีกเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ของให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยรับชำระหนี้จากโจทก์เป็นการรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่เข้าลักษณะลาภมิควรได้ ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่น พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาข้อแรก ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 91/2518 โจทก์ (จำเลยคดีนี้) ฟ้องเรียกต้นเงินกู้จำนวน 19,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยชั่งละหนึ่งบาทต่อเดือนนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2513เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ประเด็นในคดีจึงมีว่า นางแม้นค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2513 เป็นต้นไปอยู่หรือไม่ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยฟ้องคดีก่อนโดยปกปิดความจริงที่เกี่ยวกับการที่จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยไปแล้ว 8,500 บาท หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมิใช่หนี้อันแท้จริง โจทก์ได้ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้วโดยหลงผิด เป็นการชำระเกินกว่าหนี้ที่แท้จริงโจทก์ขอคืนเงินที่จำเลยรับชำระไว้แล้วในฐานะลาภมิควรได้ และจำเลยต่อสู้ว่าเงินค่าดอกเบี้ย 8,500 บาท ที่จำเลยรับชำระไว้นั้นเป็นเงินค่าดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญากู้จนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2513 ประเด็นจึงมีว่าจำเลยได้รับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยไปเกินกว่าจำนวนหนี้ที่แท้จริงอันต้องคืนแก่โจทก์หรือไม่จึงมิใช่เป็นคดีที่มีประเด็นอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

ส่วนปัญหาว่าเงินค่าดอกเบี้ย 8,500 บาท ที่จำเลยรับชำระหนี้ไปเป็นลาภมิควรได้ดังที่โจทก์อ้างหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้ยกขึ้นวินิจฉัย และโจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ที่รับชำระแทนไปนั้นด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 และมาตรา 247

ในปัญหาดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2512นางแม้น ทำสัญญากู้เงินจำเลยไป 25,000 บาท กำหนดใช้คืนวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2513 กำหนดอัตราดอกเบี้ยชั่งละบาทต่อเดือน ชำระสามเดือนต่อครั้ง แต่นางแม้นตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อเดือน ครั้งแรกนางแม้นจึงชำระดอกเบี้ย 1,500 บาท และอีก 2 ครั้งก็ชำระครบตามกำหนดเป็นเงินดอกเบี้ยทั้งหมด 4,500 บาท ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2513 นางแม้นชำระเงินต้นคืน 6,000 บาท ชำระดอกเบี้ย 4,000 บาท เงินดอกเบี้ยจึงเป็น8,500 บาท เงินต้นจึงคงเหลือ 19,000 บาท แล้วจึงมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2518 นับแต่วันที่ 26กรกฎาคม 2513 นางแม้นก็มิได้ชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยเลยจนนางแม้นถึงแก่กรรมไป

ศาลฎีกาเห็นว่า การชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 แต่ก็เป็นเรื่องที่ชำระหนี้ด้วยความสมัครใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลแห่งคดี

พิพากษายืน

Share