คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1744/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้ากรณีที่โจทก์จะต้องโต้แย้งหรือแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรก็ต่อเมื่อโจทก์ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้ชำระเพิ่มในวันนำเข้านั้นเอง แต่ในคดีนี้ที่โจทก์ได้ชำระภาษีอากรเฉพาะตามจำนวนที่ได้สำแดงไว้เท่านั้น ส่วนจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้โจทก์ชำระเพิ่ม โจทก์ยังมิได้ชำระแต่ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันค่าอากรที่อาจต้องชำระเพิ่มเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินเพิ่มในภายหลังอันเป็นการดำเนินการเพื่อให้สินค้าออกจากอารักของจำเลยตามที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112ได้บัญญัติไว้ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรเพิ่ม โจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมิน การชำระอากรเพิ่มเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้ว จึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 10 วรรคห้า การที่โจทก์ชำระอากรเพิ่มให้จำเลยตามที่เรียกเก็บเช่นนี้แม้โจทก์จะทราบดีอยู่ก่อนยื่นใบขนสินค้าแล้วว่าอาจต้องถูกประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและต้องชำระอากรเพิ่มขึ้นและมิได้โต้แย้งหรือได้แย้งหรือได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืนก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องคดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อการขอคืนอากรของโจทก์ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า โจทก์จึงไม่สิ้นสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่เสียเพิ่มภายหลังแม้จะมิได้ฟ้องขอคืนภายในกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า และตามพระราชบัญญัติศุลกากรดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับกำหนดอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามมาตรา 164 เดิม และมาตรา 193/30 ใหม่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าของโจทก์โดยอาศัยเปรียบเทียบกับราคาสินค้าชนิดเดียวกันโดยใช้ราคาสูงสุดที่มีผู้นำเข้าก่อนรายของโจทก์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนนั้น แม้จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในคำสั่งทั่วไปของจำเลยที่ 8/2530 และ 47/2531 แต่หลักเกณฑ์ตามคำสั่งดังกล่าวก็เป็นเพียงระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยเพื่อหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่านั้นหาเป็นเกณฑ์ตายตัวว่าราคาสินค้าที่นำเข้าจะต้องมีราคาอันแท้จริงตามนั้นไป ในระยะเวลา 3 เดือนดังกล่าวราคาสินค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางต่ำลงก็ได้ แต่จำเลยกลับถือเอาราคาสูงสุดเป็นเกณฑ์ประเมิน ราคาที่จำเลยนำมาเปรียบเทียบและประเมินตามคำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ตามความหมายแห่งราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงไว้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินของจำเลยไม่ชอบ ให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวเสีย ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 36,248,961.53 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันชำระเพิ่มจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,229,957.03 บาท รวมเป็นเงิน42,478,918.56 บาท และให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของยอดเงิน 36,248,961.53 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์มิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกอากรและดอกเบี้ยจากจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มจำนวน 36,248,961.53 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ชำระเพิ่มจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,229,957.03 บาท รวมเป็นเงิน 42,478,918.56 บาทและให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของยอดเงิน36,248,961.53 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งกันฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน 2533 ถึงวันที่ 27 กรกฎาคม2536 โจทก์นำก๊าซโพรพิลีนเหลว จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางเรือรวม 22 เที่ยว โจทก์ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยโดยสำแดงราคาสินค้าตามที่โจทก์อ้างว่าได้ซื้อมา แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงโดยเห็นว่าเป็นราคาต่ำไป จึงกำหนดวงเงินให้โจทก์นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันสำหรับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โจทก์ได้ชำระค่าภาษีอากรตามที่ได้สำแดงไว้และนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.22 หรือ ล.4 ชุดที่ 1 ถึง 22 หลังจากนั้นโจทก์จึงได้รับปล่อยสินค้ามา ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากที่โจทก์สำแดง และมีหนังสือแจ้งการประเมินอากรขาเข้าให้โจทก์ชำระเพิ่มขึ้น โจทก์ได้ชำระอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินเรียกเก็บเพิ่มขึ้นแก่จำเลยแล้ว เป็นเงิน 39,347,156.25 บาท แต่เนื่องจากปริมาณสินค้าที่ตรวจพบเกินกว่าที่โจทก์สำแดง ซึ่งโจทก์ต้องเสียอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษในสินค้าบางเที่ยวโดยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืนเป็นเงิน 328,989 บาท และสินค้าบางเที่ยวโจทก์ได้รับคืนอากรขาเข้าบางส่วนแล้วตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 เป็นเงิน 2,769,205.72 บาทจึงคงเหลืออากรขาเข้าและเงินเพิ่มพิเศษที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนเป็นเงิน36,248,961.53 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,229,957.03 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวแต่จำเลยแจ้งว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยชอบแล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ทราบดีอยู่ก่อนยื่นใบขนสินค้าแล้วว่าจะต้องถูกประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและต้องชำระอากรขาเข้าเพิ่มขึ้น แต่โจทก์เลือกที่จะนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นประกันสำหรับอากรขาเข้าที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น โดยโจทก์มิได้โต้แย้งหรือแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบสินค้าว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนเงินอากรดังกล่าวตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้าบัญญัติว่า “สิทธิในการเรียกร้องขอคืนอากรเฉพาะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับแต่วันที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณีแต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด หรือราคาแห่งของใด ๆ มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้น ๆ ได้ส่งมอบหรือส่งออกให้แล้วเว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าว” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว กรณีที่โจทก์จะต้องโต้แย้งหรือแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรก็ต่อเมื่อโจทก์ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้ชำระเพิ่มในวันนำเข้านั้นเอง แต่ในคดีนี้ที่โจทก์ได้ชำระภาษีอากรเฉพาะตามจำนวนที่ได้สำแดงไว้เท่านั้น ส่วนจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้โจทก์ชำระเพิ่ม โจทก์ยังมิได้ชำระแต่ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันค่าอากรที่อาจต้องชำระเพิ่มเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินเพิ่มในภายหลังอันเป็นการดำเนินการเพื่อให้สินค้าออกจากอารักของจำเลยตามที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ได้บัญญัติไว้ ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรเพิ่มโจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมินการชำระอากรเพิ่มเป็นการชำระหลังจากได้รบมอบสินค้าแล้วจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้าการที่โจทก์ชำระอากรเพิ่มให้จำเลยตามที่เรียกเก็บเช่นนี้ แม้โจทก์จะทราบดีอยู่ก่อนยื่นใบขนสินค้าแล้วว่าอาจต้องถูกประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้น และต้องชำระอากรเพิ่มขึ้นและมิได้โต้แย้งหรือได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืนก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องคดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ตามใบขนเลขที่ 084-035, 084-079,094-056, 094-073, 114-045, 114-066, 0045-0067, 0045-0033,0045-0057, 0055-0055, 044-037 และ 063-016 ขาดอายุความหรือไม่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันนำเข้าตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้านั้น เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้วว่าการขอคืนอากรของโจทก์ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้าโจทก์จึงไม่สิ้นสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่เสียเพิ่มภายหลังแม้จะมิได้ฟ้องขอคืนภายในกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้าและตามพระราชบัญญัติศุลกากรดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับกำหนดอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา164 เดิม และมาตรา 193/30 ใหม่ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ปรากฎว่าโจทก์ชำระเงินอากรเพิ่มตามที่ได้รับแจ้งการประเมินตามใบขนสินค้าดังกล่าวระหว่างวันที่ 14 สิงหาคม 2533 ถึงวันที่22 มิถุนายน 2535 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2537ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาต่อไปว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะต้องวินิจฉัยว่าราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงตามใบขนสินค้าหรือราคาที่จำเลยประเมินเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด โจทก์มีนายอิสระชัย เดชาฤทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายกฎหมายผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ นายวิวัช ยัติโชติ ผู้จัดการแผนกชิปปิ้งและแอลซี กับนางศรีสุดา สุรเลิศรังสรรค์ ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเครื่องจักรและวัตถุดิบของโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้านั้นเป็นก๊าซโพรพิลีนเหลว โจทก์สั่งซื้อจากพ่อค้าหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศปราซิลประเทศซาอุดิอาระเบีย ประเทศลิเบีย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ ก่อนที่โจทก์จะสั่งซื้อโจทก์จะสอบราคาในท้องตลาดในขณะนั้นจากสถาบันการค้าแก๊สปิโตรเลี่ยม คือ อินดีเพนเดนท์เคมีกัล อินฟอร์เมชั้น เซอร์วิสกรุ๊ป มีสำนักงานที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ใช้ชื่อย่อว่า ไอ.ซี.ไอ.เอส ซึ่งมีการวิเคราะห์ราคาในท้องตลาดเป็นรายวันหรือสัปดาห์ตามภาวะตลาดตามเอกสารหมาย จ.29 เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าเป็นผลผลิตจากน้ำมันจึงมีราคาผันแปรทั้งขึ้นและลงรวดเร็วตามภาวะตลาด โจทก์จะตรวจสอบราคาจากผู้ขายในต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นว่าเหมาะสมแล้วโจทก์ก็จะสั่งซื้อและตกลงราคาในแต่ละเที่ยวซึ่งไม่เท่ากัน โดยกำหนดราคาซี.ไอ.เอฟ. ตามเอกสารหมาย จ.27 และโจทก์จะเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตผ่านธนาคารไปยังผู้ขายตามเอกสารหมาย จ.28ภายหลังผู้ขายได้รับเลตเตอร์ออฟเครดิตและส่งสินค้าแล้วธนาคารก็จะให้โจทก์ไปชำระเงินและมอบใบกำกับสินค้า ใบตราส่งพร้อมใบเสร็จรับเงินให้โจทก์เพื่อไปนำสินค้าออก โจทก์จะสำแดงราคาสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเท่าที่ซื้อมาและตรงกับใบกำกับสินค้า ซึ่งเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ส่วนจำเลยมีพนักงานประเมินหลายคนรวมทั้งนิติกรผู้ตรวจการประเมินสินค้าของโจทก์ เบิกความว่าได้ตรวจสินค้าที่โจทก์นำเข้าแล้วเห็นว่า ราคาที่โจทก์สำแดงต่ำกว่าราคาของโพรพิลีนเหลวที่มีผู้นำเข้าสูงสุดก่อนการนำเข้าของโจทก์ครั้งนี้ในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน ตามหลักเกณฑ์ในคำสั่งทั่วไปของจำเลยที่ 8/2530 และ 47/2531 เอกสารหมาย ล.2 ฉบับที่ 3 ถึง 14 และรายละเอียดการนำมาเปรียบเทียบตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 49 ถึง 54เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความสอดคล้องต้องกันประกอบเอกสารต่าง ๆตรงกัน และจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งว่าราคาสินค้าตามที่ปรากฎในใบกำกับสินค้าและใบขนสินค้าทั้งหมดไม่ถูกต้องอย่างไร อีกทั้งนางสาวชไมพร เหลือบเจริญ นายพิรัตน์ สุขวัฒนะนุกิจนายเสริมฉัตร จิรสัทธรรม และนายประดิษฐ์ ปาลวงศ์ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยผู้ตรวจใบขนสินค้าของโจทก์พยานจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ได้สำแดงราคาในใบขนสินค้าตรงกับใบกำกับสินค้าที่แนบมาด้วย พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักฟังได้ว่าโจทก์ได้สั่งซื้อและชำระราคาสินค้าได้ตามที่ได้สำแดงไว้ในใบขนสินค้าจริง ซึ่งไม่ปรากฎว่ามีการลดราคาให้แก่กันจึงอนุมานได้ว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด หากจำเลยเห็นว่าราคาที่โจทก์ซื้อมาดังกล่าวมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยก็จะต้องมีพยานหลักฐานพิสูจน์ให้ฟังได้เช่นนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าของโจทก์โดยอาศัยเปรียบเทียบกับราคาสินค้าชนิดเดียวกัน โดยใช้ราคาสูงสุดที่มีผู้นำเข้าก่อนรายของโจทก์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนนั้น แม้จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในคำสั่งทั่วไปของจำเลยที่ 8/2530 และ47/2531 แต่หลักเกณฑ์ตามคำสั่งดังกล่าวก็เป็นเพียงระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยเพื่อหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่านั้นหาเป็นเกณฑ์ตายตัวว่าราคาสินค้าที่นำเข้าจะต้องมีราคาอันแท้จริงตามนั้นไม่ ในระยะเวลา 3 เดือน ดังกล่าวราคาสินค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางต่ำลงก็ได้ แต่จำเลยกลับถือเอาราคาสูงสุดเป็นเกณฑ์ประเมิน ราคาที่จำเลยนำมาเปรียบเทียบและประเมินตามคำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ตามความหมายแห่งราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่ชอบ จำเลยจึงต้องคืนเงินอากรขาเข้าและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share