คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1744/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าของอาคารพิพาทได้ทำการต่อเติมอาคารดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หลังจากจำเลยถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับไปแล้วจึงได้ขายอาคารพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไป ต่อมาได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 และให้ใช้ พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แทน โจทก์จึงมาฟ้องบังคับให้รื้ออาคารส่วนที่ต่อเติม ดังนี้ต้องใช้พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บังคับ ซึ่งมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้รื้อ เจ้าของอาคารต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเมื่อปรากฏว่าขณะที่โจทก์ฟ้อง จำเลยไม่ใช่เจ้าของอาคารพิพาทแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของตึกแถวเลขที่ 281/27 จำเลยที่ 3ได้ก่อสร้างต่อเติมอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ถูกพนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้ขายตึกแถวดังกล่าวพร้อมที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 โจทก์จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมออกไป จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามให้รื้อถอน ถ้าไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนเองได้โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเสียค่าใช้จ่าย

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ทำการต่อเติมอาคารโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 3หมดสิทธิในอาคารตึกแถวตามฟ้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมออกไปถ้าจำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รื้อถอน ถ้าจำเลยที่ 1ที่ 2 ไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ปลูกสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กปกคลุมทางเดินด้านหลังตึกแถวเลขที่ 281/27 ในลักษณะเป็นการต่อเติมตึกแถวนั้นให้ผิดไปจากแบบแปลนแผนผังที่ได้รับอนุญาต และขณะปลูกสร้างมีพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479มาตรา 11 ทวิ วรรคสาม ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและทำการรื้อถอนได้ โดยคิดค่าใช้จ่ายจากผู้ปลูกสร้างอาคารนั้น แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ยังไม่ได้ใช้อำนาจดังกล่าว เพียงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 จัดการรื้อถอนเท่านั้น ต่อมาจำเลยที่ 3 ยังไม่ได้รื้อถอนก็โอนขายอาคารตึกแถวดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไป และปรากฏว่าขณะฟ้องคดีนี้ พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พุทธศักราช 2479 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยมีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ออกมาใช้แทน การรื้อถอนอาคารตึกแถวดังกล่าวจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคสามวรรคสี่ จำเลยที่ 3 ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของอาคารในขณะโจทก์ฟ้อง จึงไม่ต้องรับผิดเสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน

พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share