คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1743/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาท จึงเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 2 กระทำทั้งฐานะส่วนตัวและฐานะผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทซึ่งเป็นการร่วมกระทำอย่างชัดแจ้งอยู่แล้ว จำเลยย่อมเข้าใจได้ น.เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์แต่ผู้เดียวจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์มิได้มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการไว้ การกระทำการแทนโจทก์จึงหาต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ด้วยไม่ สำหรับข้อบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1078 วรรคสี่เป็นรายละเอียดของรายการและวิธีการลงทะเบียนก่อนที่พนักงานทะเบียนจดทะเบียนให้ หาได้เกี่ยวกับอำนาจกระทำการของหุ้นส่วนผู้จัดการแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การบังคับค่าปรับจะกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 1 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29,30 นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2535 จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสาขาพัทยา ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2535 จำนวนเงิน 338,404 บาทเพื่อชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างแก่โจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระโจทก์นำเช็คเข้าบัญชีโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฎว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2535 เหตุผลว่า”โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” แสดงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งจ่ายเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น สั่งจ่ายเช็คในขณะที่ไม่มีเงินอยู่ในบัญชี ร่วมกันถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีให้เหลือน้อยกว่าจำนวนเงินที่สั่งจ่าย ห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์140,000 บาท เพื่อบรรเทาผลร้ายแห่งคดีแก่โจทก์แล้ว สมควรลงโทษสถานเบา ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 4เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 เดือนไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่มีข้อความใดระบุว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดทางอาญา อีกทั้งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นชัดว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งจ่ายเช็คพิพาทอันถือว่าเป็นคำบรรยายฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ทำให้จำเลยทั้งสองไม่เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาท จึงเห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 2 กระทำทั้งฐานะส่วนตัวและฐานะผู้มีอำนาจกระทำการของจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทซึ่งเป็นการร่วมกระทำอย่างชัดแจ้งอยู่แล้ว จำเลยย่อมเข้าใจได้ คำฟ้องของโจทก์มีรายละเอียดครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)ทุกประการ
จำเลยทั้งสองฎีกาในประการต่อมาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองโดยฎีกาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ต้องมีตราสำคัญของโจทก์ประทับ แต่ตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์มีเพียงนายนาวี เลาพงษ์สิต ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการลงชื่อเป็นผู้มอบอำนาจ เท่านั้น ไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับจึงเท่ากับนายนาวีเป็นผู้มอบอำนาจในฐานะส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับห้างโจทก์ จึงถือว่าโจทก์มิได้มอบอำนาจให้นายเถลิงศักดิ์ ชาติยานนท์ เป็นผู้รับมอบอำนาจ นายเถลิงศักดิ์จึงไม่สามารถฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ เห็นว่า นายนาวีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์แต่ผู้เดียวตามหนังสือรับรองท้ายฟ้องจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อหนังสือรับรองมิได้มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการไว้ การกระทำการแทนโจทก์จึงหาต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ด้วยไม่ ข้อบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1078 วรรคสี่ เป็นรายละเอียดของรายการและวิธีการลงทะเบียนก่อนที่พนักงานทะเบียนจะจดทะเบียนจะจดทะเบียนให้หาได้เกี่ยวกับอำนาจกระทำการของหุ้นส่วนผู้จัดการแต่อย่างใด โจทก์มอบอำนาจโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
อนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การบังคับค่าปรับจะกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน5,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นั้น ไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายืน แต่เฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลจะกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ จึงให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 แต่ประการเดียว

Share