แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์กรอกรายการยอดขายที่ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ1ขาดไป1,000,000บาทนั้นเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับชำระภาษีถ้ามีให้ถูกต้องครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรมาตรา83/4แต่ถ้าไม่มีจำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปผู้ประกอบการจดทะเบียนก็ยังคงมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งให้ถูกต้องโดยไม่ต้องชำระภาษีแต่อย่างใดปรากฏว่าโจทก์ส่งสินค้าประเภทเซรามิคไปขายยังต่างประเทศอันเป็นการส่งออกตามมาตรา77/1(14)โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนสำหรับการประกอบกิจการประเภทการส่งออกสินค้าที่มิใช่การส่งออกสินค้าซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา81(3)แต่ตามมาตรา80/1(1)กำหนดให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ0ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องแต่โจทก์ไม่มีจำนวนภาษีในเดือนภาษีที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเปลี่ยนแปลงไปที่โจทก์จะต้องนำมาชำระให้ถูกต้องพร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมตามมาตรา83/4ดังนั้นโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา89(4)และ89/1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2537 โจทก์ส่งสินค้าประเภทเซรามิคไปจำหน่ายต่างประเทศ 3 ครั้ง ราคารวมทั้งสิ้น 1,117, 558.22 บาท ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มโดยระบุยอดขายที่เสียภาษีขาดไป 1,000,000 บาทเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จึงได้ทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มเป็นเงินรวม 107,112 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์คัดค้านการประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์โจทก์ไม่เห็นด้วยกล่าวคือ สินค้าของโจทก์ได้รับการยกเว้นอากรตามประมวลรัษฎากร แม้โจทก์กรอกรายการภาษีมูลค่าเพิ่มยอดขายขาดไป โจทก์ก็ไม่ต้องเสียภาษีในส่วนที่ขาดนี้ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่แถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าเมื่อวันที่ 4, 23 และ 25 พฤษภาคม 2537 โจทก์ส่งสินค้าประเภทเซรามิคไปขายที่ประเทศมาเลเซีย 2 ครั้ง และประเทศอินโดนีเซีย1 ครั้ง เป็นมูลค่า 423,681 บาท 272,029.22 บาท และ 421,848 บาทโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ตามประมวลรัษฎากรว่า เดือนพฤษภาคม ปี 2537 มียอดขายที่ต้องเสียภาษีจำนวน 175.00 บาท ยอดภาษีซื้อที่มีสิทธินำมาหักจำนวน161,748.33 บาท ภาษีสุทธิที่ต้องชำระเป็นเงิน 917.62 บาทต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 1 ได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภ.ภ.73) ให้โจทก์ชำระเงินภาษีจำนวน 107,112 บาท โดยอ้างว่าโจทก์ระบุยอดขายที่เสียภาษีขาดหายไป 1,000,000 บาทโจทก์ได้อุทธรณ์คัดค้านไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า คำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางซึ่งวินิจฉัยว่า กรณีของโจทก์ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องแล้วเป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น เมื่อกรณีของโจทก์ยื่นแบบแล้วไม่เป็นเหตุให้จำนวนภาษีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากรไม่จำต้องชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินและตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ข้อวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลางเป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายนั้น เห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติว่า”ภายใต้บังคับส่วน 13 และส่วน 14 ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าการคลาดเคลื่อนนั้นจะเป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับชำระภาษีถ้ามี ให้ถูกต้องครบถ้วนโดยยื่น ณ สถานที่ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ก่อน” เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์กรอกรายการยอดขายที่ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 ขาดไป 1,000,000 บาท จริง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับชำระภาษีถ้ามี ให้ถูกต้องครบถ้วนแต่ถ้าไม่มีจำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไป ผู้ประกอบการจดทะเบียนก็ยังคงมีหน้าที่มายื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งให้ถูกต้อง โดยไม่ต้องชำระภาษีแต่อย่างใดข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์ส่งสินค้าประเภทเซรามิคไปขายที่ประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศอันเป็นการส่งออกตามนัยมาตรา 77/1(14) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนสำหรับการประกอบกิจการประเภทการส่งออก สินค้าที่มิใช่การส่งออกสินค้าซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(3)แต่ตามมาตรา 80/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้อง แต่โจทก์ไม่มีจำนวนภาษีในเดือนภาษีที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป ที่โจทก์จะต้องนำมาชำระให้ถูกต้องพร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมตามมาตรา 83/4แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89(4) และ 89/1 แห่งประมวลรัษฎากรที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน