คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17401/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง กล่าวคือไม่ขออนุญาตศาลฎีกาให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้วินิจฉัย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง, 100 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 55, 72 วรรคหนึ่ง วรรคสาม, 78 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า เดิมเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 ขับ เหตุเกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และต่อมาจำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านเลขที่ 50 หมู่ที่ 9 ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช พบจำเลยที่ 2 ยึดได้เมทแอมเฟตามีนอีก 400 เม็ด โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด ซึ่งซุกซ่อนอยู่ในรถยนต์กระบะไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษไปแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอีก 400 เม็ด ซึ่งยึดได้ที่บ้านจำเลยที่ 1 เลขที่ 50 หมู่ที่ 9 ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช และข้อหาความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 เห็นว่า เมทแอมเฟตามีน 400 เม็ดแรก และ 400 เม็ดหลัง จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมในคราวเดียวกันเพียงแต่เมทแอมเฟตามีนแยกกันเก็บเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในคดีแรกไปแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีหลังนี้อีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 อีกจึงเป็นการไม่ชอบ อีกประการหนึ่งจำเลยที่ 1 ถูกจับในเขตอำนาจของสถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช แต่พนักงานสอบสวนส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ไม่ใช่พนักงานผู้รับผิดชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เนื่องด้วยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งจำเลยที่ 1 ก็มิได้ยื่นฎีกาพร้อมกับคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อให้ศาลฎีการับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้วินิจฉัยแต่อย่างใด คดีนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงถึงที่สุดแล้ว ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น จึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1

Share