คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1740/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในบันทึกจับกุมและบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 1 ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีน แต่กลับปรากฏในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เห็นเจ้าพนักงานตำรวจพูดคุยกับจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ไปนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 120 เม็ด มาจากเสาด้านข้างบันไดบ้านมามอบให้เจ้าพนักงานตำรวจ ดังนั้น คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็ไม่มีส่วนใดแสดงถึงการที่จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นครอบครองเมทแอมเฟตามีนจำนวน 120 เม็ดดังกล่าวเลย เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคนไปหยิบมาส่งมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจที่จะแสดงได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นครอบครองร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา เมื่อโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดแจ้ง แต่โจทก์ก็ได้นำสืบได้ไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 6, 7, 8, 15, 66, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 และริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์จำนวน 6.36 กรัม อุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีน 3 อัน เงินจำนวน 42,710 บาท ของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพเมทแอมเฟตามีน ปฏิเสธข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขแล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 อีกกระทงหนึ่ง และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 10 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 10 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 11 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี 3 เดือน จำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี 6 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ และอุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีนของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง เป็นจำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า วันเวลาเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจไปที่บ้านจำเลยที่ 2 พบวัยรุ่น 4 ถึง 5 คน อยู่ที่ใต้ถุนบ้าน ส่วนบนบ้านมีจำเลยทั้งสองอยู่ในห้องปิดล็อกประตูไว้ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจแสดงตัวขอตรวจค้นจำเลยทั้งสอง พบเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ในกางเกงชั้นในของจำเลยที่ 1 จำนวน 120 เม็ด ตรวจค้นในห้องของจำเลยที่ 2 พบกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 ในกระเป๋ามีเงินสดจำนวน 42,710 บาท และเมทแอมเฟตามีนอีก 1 เม็ด และพบอาวุธปืนของกลางพร้อมกระสุนปืนตามฟ้อง ชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 รับสารภาพตามบันทึกจับกุมเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยที่ 2 ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย ป.จ.2 (ศาลจังหวัดขอนแก่น) มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนตามฟ้องไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า บันทึกจับกุมเอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง รวม 120 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในกางเกงชั้นในที่จำเลยที่ 1 สวมใส่อยู่ จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นของจำเลยที่ 1 จะนำมาจำหน่ายให้ลูกค้า และตรวจค้นได้เมทแอมเฟตามีนอีก 1 เม็ดและเงินสด 42,710 บาท ในกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 บันทึกจับกุมนี้ไม่ปรากฏว่าพบเมทแอมเฟตามีนที่ตัวจำเลยที่ 2 และในส่วนใดของห้องจำเลยที่ 2 เลย ซึ่งร้อยตำรวจเอกนิรันดร์ก็เบิกความตรงกับบันทึกการจับกุมว่าพบเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ในกางเกงในที่จำเลยที่ 1 สวมใส่อยู่จำนวน 120 เม็ด อยู่ในกระเป๋าถือจำเลยที่ 1 อีก 1 เม็ด การที่พบเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนในกางเกงในที่จำเลยที่ 1 สวมใส่อยู่อันเป็นที่ลับ จำเลยที่ 2 อาจไม่รู้เรื่องก็ได้ ส่วนอีก 1 เม็ดอยู่ในกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นของส่วนตัวของจำเลยที่ 1 อีกเช่นกัน ที่โจทก์ฎีกาว่าการที่จำเลยทั้งสองปิดล็อกห้อง เชื่อว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยที่ 1 ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนไว้ในกางเกงในนั้น เห็นว่า ในบันทึกจับกุมและบันทึกคำให้การของจำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยอมรับเช่นนั้น แต่กลับปรากฏในคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย ป.จ.2 ว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เห็นเจ้าพนักงานตำรวจพูดคุยกับจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ไปนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 120 เม็ดมาจากเสาด้านข้างบันไดบ้านมามอบให้เจ้าพนักงานตำรวจ ดังนั้น คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวก็ไม่มีส่วนใดแสดงถึงการที่จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นครอบครองเมทแอมเฟตามีนจำนวน 120 เม็ดดังกล่าวเลย เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคนไปหยิบมาส่งมอบให้เจ้าพนักงานตำรวจที่จะแสดงได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นครอบครองร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาเมื่อโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดแจ้ง แต่โจทก์ก็นำสืบได้ไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้คดีในส่วนจำเลยที่ 1 จะเป็นอันยุติ แต่เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดและในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8, 19 และมาตรา 26 ยกเลิกความในมาตรา 15, 66 และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มาตรา 15 วรรคหนึ่ง กฎหมายเดิมและที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน ส่วนมาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่บัญญัติว่า การมีแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวน 15 หน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5 กรัมขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงว่าจะมีหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนในมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิมที่จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท สำหรับคดีนี้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีจำนวน 120 เม็ด น้ำหนักสุทธิ 10.88 กรัม ดังนั้น กรณีโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า สำหรับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนนั้น มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา 91 เดิม ที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 91 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share