คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1739/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระราคาสินค้าที่จำเลยซื้อไปจากโจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันรับสินค้าจนกว่าจะชำระเสร็จ ทนายจำเลยซึ่งตามใบแต่งทนายระบุให้มีอำนาจประนีประนอมยอมความได้ด้วย ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ว่า จำเลยยอมชำระราคาสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์ภายในวันที่ 15 กันยายน 2525 หากผิดนัดยอมให้บังคับคดีทันทีและยอมเสียดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลพิพากษาตามยอม ดังนี้ จำเลยจะมาร้องขอให้ศาลแก้คำพิพากษาตามยอมโดยอ้างว่าทนายจำเลยทำสัญญายอมให้ดอกเบี้ยแก่ โจทก์เกินคำขอหาได้ไม่ เพราะมิใช่เป็นการขอแก้ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143. และที่จำเลยอ้างว่า จำเลยไม่มีความรู้ไม่ทราบว่าคำพิพากษาชอบหรือไม่จึง เป็นกรณีพิเศษที่จะขอให้แก้คำพิพากษาได้นั้น ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่า กรณีของจำเลยเป็นกรณีพิเศษที่จะให้แก้คำพิพากษาได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าซื้อสินค้าให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันรับสินค้าจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมชำระราคาสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์ภายในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕ หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีทันทีและจะยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลพิพากษาตามยอม
จำเลยยื่นคำร้องว่า ทนายจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีให้โจทก์ เกินอัตราที่โจทก์ขอ ส่อเจตนาไม่สุจริต ขอให้ศาลแก้คำพิพากษาตามยอม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใดของศาล จะมีการแก้ไขได้ต่อเมื่อมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓ หรือได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในกรณีที่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วแต่กรณี แต่ตามคำร้องของจำเลยที่ขอแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น นอกจากมิใช่เป็นการข้อแก้ข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ แล้ว ยังเป็นการขอแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาด้วย จึงแก้ไม่ได้ ทั้งจำเลยก็มิได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น คดีจึงถึงที่สุดแล้ว ข้อที่จำเลยฎีกาว่าในกรณีที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓เป็นการอุทธรณ์ในกรณีปกติที่มีทนายความเป็นผู้รู้ แต่ในกรณีของจำเลยเป็นกรณีพิเศษที่ทนายจำเลยเมื่อทำยอมแล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่ จำเลยเองไม่รู้ว่าคำพิพากษานั้นชอบหรือไม่ จึงขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เกิดความถูกต้องตามที่จำเลยปรารถนานั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยได้ตั้งแต่งทนายความให้แก้ต่างแทนตน ทนายจำเลยก็มีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ แทนจำเลยได้ตามที่เห็นสมควร ยิ่งกว่านั้นปรากฏตามใบแต่งทนายของจำเลยว่า จำเลยได้ระบุโดยชัดแจ้งให้ทนายจำเลยมีอำนาจในการประนีประนอมยอมความด้วย ดังนั้น กรณีทนายจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลตามที่จำเลยให้อำนาจไว้ และศาลได้พิพากษาตามยอม จำเลยมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นจึงมีผลผูกพันจำเลย จำเลยจะอ้างว่าเมื่อทนายจำเลยผู้รู้ทำยอมแล้วก็หมดหน้าที่ จำเลยไม่รู้ว่าคำพิพากษานั้นชอบหรือไม่จึงเป็นกรณีพิเศษและขอให้ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นหาได้ไม่ เพราะไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่ากรณีของจำเลยดังที่จำเลยอ้างเป็นกรณีพิเศษและให้แก้คำพิพากษาได้
พิพากษายืน

Share