คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกที่ดินวัดตามที่มีผู้แจ้งให้ทราบในฐานะผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี มิได้ทำในฐานะส่วนตัวส่วนจำเลยที่ 2 ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานีการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชักนำผู้อื่นให้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในทางเดียวกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาและมีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ต่อพนักงานอัยการนั้นก็เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ชอบที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ แต่จะฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยตรงในคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย แต่หากศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ให้ร้ายโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้าราชการว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในสวนยางพาราที่บิดามารดาโจทก์ปลูกไว้ในที่ดินพิพาทซึ่งมีหลักฐานเป็น ส.ค. 1 เลขที่ 414 ตำบลทุ่งเตา อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อโจทก์เข้าดูแลจัดการสวนยางพาราดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ามาขัดขวางการดูแลสวนยางพาราของโจทก์ดำเนินการให้โจทก์ถูกจับกุม ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นสอบสวนและชั้นพนักงานอัยการ จำเลยที่ 2 เมื่อรับฟังคำบอกกล่าวของจำเลยที่ 1 แล้วได้ดำเนินการแจ้งความทำให้โจทก์ถูกจับกุมและต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว เป็นการกระทำโดยมิชอบเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจทำการแทนหน่วยงานราชการในเรื่องคดีอาญา ส่วนจำเลยที่ 3 ออกหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์โดยมิชอบ เนื่องจากจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่มิได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหลงเชื่อรับแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ และจำเลยทั้งสามยังชักนำผู้อื่นให้ให้การต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับฟังดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์และมีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เสียเวลาทำมาหากิน เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ขาดรายได้จากหลักทรัพย์ที่นำไปใช้ประกันตัว ขาดรายได้อันพึงได้จากสวนยางพารา เสียค่ารถไถปราบวัชพืชและค่ามัดจำสั่งปุ๋ย รวมค่าเสียหายทั้งหมดคิดเป็นเงิน 274,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงิน 274,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สวนยางพาราตามฟ้องเป็นของวัดโกงเหลงมิใช่ทรัพย์มรดกของบิดาโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามความจริงเนื่องจากโจทก์บุกรุกที่ดินของวัด จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กระทำละเมิดและไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หากต้องรับผิดก็ไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับราชการอยู่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตำแหน่งนักวิชาการศาสนา 7 และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ จำเลยที่ 3 ได้รับแจ้งว่ามีผู้บุกรุกนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถดินในบริเวณวัดโกงเหลง (วัดร้าง) ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความดำเนินคดี จำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งว่าผู้บุกรุกที่ดินของวัดคือโจทก์จึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามที่ได้รับมอบอำนาจและให้การในชั้นสอบสวนตามข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบมา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติการไปตามหน้าที่มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีต้องด้วยพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎหรือคำสั่ง จึงอยู่ในอำนาจศาลปกครอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อศาลชั้นต้น ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความ (ที่ถูกไม่ต้องสั่งจำหน่ายคดี) โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมทำละเมิดต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ให้ร้ายโจทก์ต่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้าราชการว่าโจทก์บุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสวนยางพารา และต่อมาจำเลยที่ 3 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์โดยไม่มีอำนาจ ทำให้โจทก์ถูกจับกุมและต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว และจำเลยทั้งสามยังชักนำผู้อื่นให้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในทางเดียวกันเพื่อให้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เมื่อพิจารณาข้ออ้างในคำฟ้องประกอบเอกสารท้ายฟ้องแล้วได้ความว่า มูลเหตุคดีนี้สืบเนื่องมาจากสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินของวัดร้างต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบรวมทั้งวัดโกงเหลง ได้รับแจ้งว่า มีผู้นำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถสวนยางพาราของวัดโกงเหลงได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งนักวิชาการศาสนา 7 สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎรานีไปแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกที่ดินของวัดโกงเหลง จำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ว่าผู้นำรถแทรกเตอร์ไปไถที่ดินของวัดโกงเหลงคือโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้องดังกล่าวเห็นได้ว่า การที่จำเลยที่ 3 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้บุกรุกที่ดินวัดโกงเหลงตามที่มีผู้แจ้งให้ทราบนั้นเป็นการทำในฐานะผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี มิได้ทำในฐานะส่วนตัว ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อทราบจากผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ว่าโจทก์เป็นผู้บุกรุกที่ดินของวัดโกงเหลงก็ได้ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่ได้รับมอบอำนาจ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชักนำผู้อื่นให้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในทางเดียวกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาและมีความเห็นสั่งฟ้องโจทก์ต่อพนักงานอัยการนั้นก็เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังนั้นไม่ว่าการมอบอำนาจให้แจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์และการชักนำผู้อื่นให้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในทางเดียวกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับฟังเป็นโทษแก่โจทก์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะกระทำไปโดยถูกต้องหรือปราศจากอำนาจหรือเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์หรือร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้เป็นข้าราชการทำละเมิดต่อโจทก์ก็ตามโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ แต่จะฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยตรงในคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย แต่หากศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้การที่ศาลชั้นต้นยกปัญหานี้ขึ้นวินิฉัยชี้ขาดเบื้องต้นแล้วมีคำสั่งยกฟ้องโจทย์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงชอบแล้ว และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไปเพราะไม่มีผลต่อรูปคดี”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share