คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ซึ่งได้ถูกยกเลิกแล้ว มีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลย ไม่ใช่เรื่องอ้างบทกฎหมายผิด ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ข้อ 56, 83
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 56, 83 จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้จำคุก 1 เดือน ปรับ2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับบังคับตามมาตรา 29, 30 ให้คุมประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อครั้ง และให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรภายใน 3 เดือน นับแต่วันพิพากษาโจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 2 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 56, 83 แต่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 3ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2535 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2535 จำเลยได้กระทำความผิดและขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวจึงเท่ากับโจทก์ขอให้ลงโทษตาม กฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วซึ่งมีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายอันใดมาเลย ไม่ใช่เรื่องอ้างบทกฎหมายผิด ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share