คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1735/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญา พนักงานอัยการจะต้องส่งตัวจำเลยมาพร้อมกับฟ้องเสมอ เว้นแต่จำเลยจะเป็นผู้อยู่ในอำนาจของศาลแล้ว
ศาลชั้นต้นได้รับฝากขังตัวผู้ต้องหาไว้จากพนักงานสอบสวนและออกหมายขังไว้แล้วผู้ต้องหาหลบหนีไปก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง กรณีเช่นนี้นับได้ว่าตัวจำเลยอยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับฟ้องและดำเนินการต่อไป
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 26/2514)

ย่อยาว

โจทก์ยื่นฟ้อง (เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2514) ขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าคนโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ขอให้เพิ่มโทษตามมาตรา 92 สั่งริบของกลาง และบรรยายคำฟ้องมาด้วยว่าระหว่างสอบสวน จำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันถูกจับตลอดมาจนถึงวันฟ้องขณะนี้จำเลยต้องขังอยู่ตามคำร้อง คดีหมายเลขดำที่ พ.291/2513ของศาลชั้นต้น ขอให้ศาลเบิกตัวจำเลยมาพิจารณาและพิพากษาต่อไป

ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2514 ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสุรินทร์ได้มีหนังสือแจ้งมาว่า จำเลยซึ่งต้องขังตามหมายขังระหว่างสอบสวน พ.291/2513 ได้หลบหนีไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2514เสียแล้ว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยโดยไม่มีตัวจำเลยมาส่งศาล จึงไม่รับฟ้องตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 766/2504

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 จะต้องมีการสอบสวนก่อนและมาตรา 142 วรรค 3 บัญญัติว่า “ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว” ฉะนั้นในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกขังโดยหมายของศาลตามบทบัญญัติในมาตรา 87 แล้วเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกขังดังกล่าวเป็นจำเลยต่อศาลแล้วพนักงานอัยการหาจำต้องนำตัวจำเลยมาส่งศาลพร้อมกับฟ้องของตนไม่ ในกรณีเช่นนี้ พนักงานอัยการเพียงขอให้ศาลเบิกตัวจำเลยมาดำเนินการต่อไปเท่านั้นและศาลก็มีหน้าที่ต้องเบิกตัวจำเลยมาเพราะตัวจำเลยอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1497/2496 ระหว่างพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดปากพนัง โจทก์ นางส่อง ชูแก้ว จำเลย ตัดสินไว้

อย่างไรก็ดี ถ้าจำเลยมิได้อยู่ในอำนาจของศาลที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง พนักงานอัยการจะต้องยื่นฟ้องพร้อมกับส่งตัวจำเลยต่อศาลเสมอเพราะพนักงานอัยการมีหน้าที่ต้อง “จัดการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา” ตามมาตรา 141 วรรค 4 อยู่แล้ว ดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้หลายเรื่องแล้ว คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 126/2489 ระหว่าง อัยการจังหวัดสุราษฎร์ธานี โจทก์ นายขึม รักษ์สวัสดิ์ กับพวก จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 515/2491 ระหว่าง พนักงานอัยการกองคดี กรมอัยการโจทก์ นายมังกรหรือน้อย สุขใจ จำเลย

จริงอยู่คำพิพากษาฎีกาที่ 766/2504 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดภูเขียว โจทก์ นายหมื่น โจมชัยภูมิ กับพวก จำเลย มีข้อเท็จจริงที่คล้ายคลึงกับคดีนี้มาก แต่ในคดีนั้นจำเลยต้องโทษเรื่องเล่นการพนัน ทางการได้ส่งตัวไปกักขังไว้ยังสถานที่กักขังอำเภอภูเขียว แล้วพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่หาว่า ฆ่ากระบือโดยไม่รับอนุญาต โดยไม่ได้ขอฝากขังไว้ในคดีเรื่องใหม่ที่ยื่นฟ้อง แต่ปรากฏว่าเมื่อขณะยื่นฟ้อง จำเลยได้หลบหนีในคดีที่ต้องโทษเรื่องการพนันไปเสียก่อนแล้ว ศาลฎีกาจึงพิพากษาว่าโจทก์จะฟ้องคดี (ฐานฆ่ากระบือไม่รับอนุญาต) โดยไม่มีตัวจำเลยไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงต่างกับคดีนี้อยู่ตรงที่ว่า คดีนี้ พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ในข้อหาฐานฆ่าผู้อื่นตามโดยเจตนา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขังไว้ 6 ครั้งแล้ว ครั้งสุดท้ายอนุญาตให้ขังได้ 12 วันนับแต่วันที่ 30 มกราคม 2514 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2514 ก็พอดีจำเลยได้หลบหนีจากที่คุมขังในวันที่ 31 มกราคม 2514 และโจทก์ก็ได้ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2514 ซึ่งจะเห็นได้ว่าคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องในขณะที่ตัวจำเลยถูกขังอยู่โดยอำนาจศาล

อาจมีข้อเถียงว่า ในคดีอาญา ถ้าให้พนักงานอัยการฟ้องคดีได้โดยไม่มีตัวจำเลยมาศาลแล้วก็จะเท่ากับเป็นการยืดอายุความอันจะเป็นผลร้ายให้แก่จำเลยแต่ความข้อนี้ในปัจจุบันนี้ไม่เป็นจริงเสียแล้วเพราะมาตรา 95 วรรค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า”ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้นับแต่วันกระทำผิดเป็นอันขาดอายุความ ฯลฯ”ซึ่งแสดงว่า ต้องฟ้องและได้ตัวผู้กระทำผิดมายังศาล อายุความจึงจะหยุดนับต่อไป แต่ในกรณีที่ยังไม่ได้ตัวมาศาล แม้จะยื่นฟ้องแล้วอายุความก็ยังคงเดินอยู่ การยื่นฟ้องและศาลรับฟ้องไว้ไม่ทำให้เป็นการยืดอายุความแต่อย่างใด

คดีนี้ ศาลชั้นต้นได้รับฝากขังตัวผู้ต้องหาไว้จากพนักงานสอบสวนและออกหมายขังไว้แล้ว จึงมีปัญหาว่า เมื่อจำเลยหลบหนีไปก่อนโจทก์ยื่นฟ้อง ศาลชั้นต้นจะรับฟ้องของโจทก์ไว้ได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า กรณีเช่นนี้นับได้ว่าตัวจำเลยอยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะรับฟ้องและดำเนินการต่อไป

อาศัยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว ที่ศาลทั้งสองไม่ประทับฟ้องโจทก์ไว้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

จึงพิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดสุรินทร์ไว้ดำเนินการต่อไป

Share