คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนำเครื่องถ่ายเอกสารทำสำเนาจากต้นฉบับหนังสือซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามเป็นเล่ม จำนวน 71 เล่ม หนังสือยังไม่เข้าเล่มจำนวน 290 ชุด และเอกสารเป็นแผ่นจำนวน 158 ชุด (6,162 แผ่น) ของกลางอันเป็นความผิดฐานทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ที่จำเลยกล่าวอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายว่า จำเลยซึ่งมีอาชีพรับจ้างถ่ายสำเนาเอกสารได้ถ่ายสำเนาเอกสารของกลางตามคำสั่งของผู้ว่าจ้างคือนักศึกษาที่นำไปใช้เพื่อการศึกษาหรือวิจัย ได้รับการยกเว้นมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบเพื่อพิสูจน์ให้เห็นตามข้อกล่าวอ้างของตน
อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามที่ว่า จำเลยกระทำผิดฐานมีสำเนาเอกสารของกลางไว้เพื่อขายอันเป็นการค้านั้น โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำหนังสือซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามและนำหนังสือซึ่งจำเลยทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวออกขาย เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปเท่านั้น หาได้บรรยายว่า จำเลยมีหนังสือซึ่งจำเลยทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวไว้เพื่อขายมาในฟ้องด้วยไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามดังกล่าวเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 75 เป็นบทบัญญัติบังคับเด็ดขาดให้ริบสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด
เครื่องถ่ายเอกสารของกลาง 4 เครื่อง เป็นเครื่องถ่ายเอกสารที่ใช้ผลิตสำเนาเอกสารของกลาง เครื่องถ่ายเอกสาร 4 เครื่อง ของกลาง จึงเป็นสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งต้องริบตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 75

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทเพรนทิช – ฮอลล์ อิงค์ จำกัด ผู้เสียหายที่ 1บริษัทเดอะแม็คกรอว์ – ฮิวส์ คำปะนีส์ อิงค์ จำกัด ผู้เสียหายที่ 2 และบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ทอมสัน พับลิชชิ่ง อิงค์ จำกัด ผู้เสียหายที่ 3เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เสียหายทั้งสามเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมหนังสือที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในคดีนี้จำนวน 5 เล่ม ประกอบด้วย

1. Marketing Management : Analysis, Planning, Implementationand Control

2. Environmental Science : The Way the World Works

3. Marketing

4. Organiztional Behavior และ

5. Production and Operations Management

หนังสือทั้งห้าเล่มเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นภาคแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยร่วมเป็นภาคี ประเทศไทยจึงมีพันธะที่จะต้องคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งห้าเล่มดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยได้ละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสาม โดยจำเลยทำสำเนาด้วยเครื่องถ่ายเอกสารจากต้นฉบับหนังสือทั้งห้าเล่มของผู้เสียหายทั้งสามทั้งเล่มและบางบท อันเป็นการทำซ้ำในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่เพื่อการค้า ทั้งนี้โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสาม และจำเลยนำงานอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสามดังกล่าวจำนวน 71 เล่มหนังสือยังไม่เข้าเล่ม 290 ชุด และเอกสารเป็นแผ่นจำนวน 158 ชุด(6,162 แผ่น) ออกขาย เสนอขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการแสวงหากำไรในทางการค้าโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเอกสารสำเนาหนังสือที่จำเลยทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ผู้เสียหายทั้งสามจำนวน 71 เล่มหนังสือยังไม่เข้าเล่ม 290 ชุด และเอกสารเป็นแผ่นจำนวน 158 ชุด(6,162 แผ่น) และเครื่องถ่ายเอกสารจำนวน 4 เครื่อง ที่ใช้ในการกระทำความผิด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4,6, 8, 15, 27, 31, 61, 69, 70, 75, 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33, 91 และให้เอกสารอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 71 เล่ม หนังสือยังไม่เข้าเล่ม 290 ชุด และเอกสารเป็นแผ่นจำนวน 158 ชุด (6,162 แผ่น)ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ สั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ริบเครื่องถ่ายเอกสารจำนวน 4 เครื่องของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตและให้เรียกผู้เสียหายทั้งสามเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27และ 69 วรรคสอง ลงโทษปรับ 100,000 บาท ให้หนังสือจำนวน 71 เล่มหนังสือยังไม่เข้าเล่ม 290 ชุด และเอกสารเป็นแผ่นจำนวน 158 ชุด(6,162 แผ่น) อันเป็นของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์และให้ค่าปรับที่ชำระตามคำพิพากษาจำนวนกึ่งหนึ่งตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ คำขออื่นให้ยก

โจทก์ร่วมทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยนำเครื่องถ่ายเอกสารทำสำเนาจากต้นฉบับหนังสือซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามเป็นเล่ม จำนวน 71 เล่ม หนังสือยังไม่เข้าเล่มจำนวน 290 ชุด และเอกสารเป็นแผ่นจำนวน 158 ชุด (6,162 แผ่น) ของกลางคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยซึ่งมีอาชีพรับจ้างถ่ายสำเนาเอกสารได้ถ่ายสำเนาเอกสารของกลางตามคำสั่งของผู้ว่าจ้างคือนักศึกษาที่นำไปใช้เพื่อการศึกษาหรือวิจัย จึงได้รับการยกเว้นมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เห็นว่า จำเลยกล่าวอ้างข้อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมาย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยได้รับการยกเว้นความผิดตามข้อกล่าวอ้างของตน แต่ปรากฏว่าจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่ามีนักศึกษามาว่าจ้างให้จำเลยถ่ายสำเนาเอกสารของกลางเพื่อนำไปใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานอันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไรแต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยคงมีจำเลยปากเดียวเบิกความยืนยันว่า จำเลยรับจ้างนักศึกษาถ่ายสำเนาเอกสารของกลางโดยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการว่าจ้างและนักศึกษาที่ว่าจ้างแต่ประการใด จึงเป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเข้าเงื่อนไขแห่งข้อยกเว้นความผิดดังที่จำเลยอ้างจำเลยจึงมีความผิดฐานทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามตามฟ้อง

สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามที่ว่า จำเลยกระทำผิดฐานมีสำเนาเอกสารของกลางไว้เพื่อขายอันเป็นการค้านั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยทำซ้ำหนังสือซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสาม และนำหนังสือซึ่งจำเลยทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวออกขาย เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปเท่านั้นหาได้บรรยายว่า จำเลยมีหนังสือซึ่งจำเลยทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวไว้เพื่อขายมาในฟ้องด้วยไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามในข้อนี้เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

ส่วนที่โจทก์ร่วมทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ริบเครื่องถ่ายเอกสารของกลางจำนวน 4 เครื่อง นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 75บัญญัติว่า “ส่วนสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น” อันเป็นบทบัญญัติบังคับเด็ดขาดให้ริบสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบทนายโจทก์ร่วมทั้งสามถามค้านว่าเครื่องถ่ายเอกสารของกลาง 4 เครื่อง เป็นเครื่องถ่ายเอกสารที่ใช้ผลิตสำเนาเอกสารของกลาง เครื่องถ่ายเอกสาร 4 เครื่องของกลางจึงเป็นสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งต้องริบตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเครื่องถ่ายเอกสารจำนวน 4 เครื่องของกลางนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share