คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1731/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 143 ให้อำนาจศาลเพิ่มเติม แก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงในคำพิพากษาหรือคำสั่งเท่านั้นมิได้ให้อำนาจศาลกระทำเช่นนั้นในสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมไปแล้ว
คำขอของคู่ความในชั้นฎีกาในเรื่องที่มิได้กล่าวอ้างมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยบังคับให้ไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์จำเลยและผู้ร้องสอดซึ่งเป็นทายาทของนายต่วนผู้ตายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล เกี่ยวกับทรัพย์มรดกที่พิพาทกัน สัญญายอมได้กล่าวรายละเอียดไว้ว่า ทรัพย์สินอย่างใดตกได้แก่ฝ่ายใด ต่อมาจำเลยที่ ๑ ร้องขึ้นว่าห้องแถวไม้สองชั้นจำนวน ๑๐ ห้องที่แบ่งให้กับจำเลยที่ ๒ และบุตรตามสัญญายอมนั้น จำเลยที่ ๒ และบุตรยังมิได้รื้อถอนเอาไปจากที่ดินที่ตั้งอยู่ ซึ่งที่ดินนั้นตกได้แก่จำเลยที่ ๑ และบุตรขอให้ศาลเรียกจำเลยที่ ๒ มาสอบถามและบังคับให้รื้อถอนเอาออกไปจากที่ดิน
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องต่อศาลว่าสัญญาประนีประนอมยอมความในสำนวนของศาลนั้นผู้พิมพ์ได้พิมพ์ข้อความตกถ้อยคำว่า “ที่ดินกับ”ไปจากต้นร่างเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้แก่จำเลยที่ ๒ ซึ่งคราวตกลงทำสัญญายอมความต่อหน้าศาลทุกฝ่ายได้เสนอร่างบัญชีทรัพย์สินที่ตกลงร่วมกันเสนอต่อศาลไว้ แล้วจึงพิมพ์สัญญาดังกล่าวขึ้นตามร่างนั้นขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดดังกล่าวในสัญญายอมความจากข้อความที่ว่า “ห้องแถวไม้ ๒ ชั้น จำนวน ๖ ห้อง ฯลฯ นางเยียกเกียงรับว่าแบ่งโฉนดให้ และต้องแถวไม้ ๒ ชั้น จำนวน ๑๐ ห้องอยู่ทิศใต้ ฯลฯ” เป็นว่า ห้องแถวไม้ ๒ ชั้นจำนวน ๖ ห้อง ฯลฯ นางเยียกเกียงรับว่าแบ่งโฉนดให้ และที่ดินกับห้องแถวไม้ ๒ ชั้นจำนวน ๑๐ ห้องอยู่ทางทิศใต้ฯลฯ” โดยขอให้ศาลสั่งแก้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๓
จำเลยที่ ๑ คัดค้านว่า มิได้มีการพิมพ์ผิดพลาดหรือตกหล่นจากร่างเดิม
ศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องคำพิพากษามีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย อันศาลมีอำนาจแก้ไขได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง (จำเลยที่ ๒)
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ ๒ ที่ขอให้ศาลแก้ไขเพิ่มเติมข้อความที่ตกหล่นอย่างหนึ่งอย่างใดลงไปในหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความอันศาลได้พิพากษาตามยอมไปแล้วนั้น ตามบทกฎหมายที่จำเลยที่ ๒อ้าง คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓ นั้น เป็นแต่ให้อำนาจศาลอาจทำได้สำหรับในคำพิพากษาเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจทำได้สำหรับในกรณีอื่นดังเช่นที่ผิดพลาดในสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ด้วยและสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่จำเลยที่ ๒ ขอให้แก้นี้ ก็ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของตัวคำพิพากษาตามยอม จึงไม่มีปัญหาที่จะชี้ว่าข้อที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นข้อที่ผิดพลาดหรือผิดหลง หากแต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๒จะร้องขอให้บังคับคดีโดยแปลว่าสัญญายอมความในส่วนนั้นได้มุ่งหมายถึงอะไรด้วย แล้วบังคับคดีไปตามนั้นเพราะคำพิพากษาตามยอมเป็นเรื่องบังคับไปตามสัญญายอมที่แท้จริงได้ และในขณะนี้ก็ไม่มีประเด็นที่ว่ากันมาตั้งแต่ต้นว่าสัญญายอมความที่แท้จริงอันได้เอามาพิมพ์ลงไว้อย่างนั้นควรจะหมายความว่าอย่างไร ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๒ กล่าวมาในฎีกา ขอให้ศาลฎีกาบังคับแบ่งที่ดินให้ด้วย จึงยังวินิจฉัยบังคับให้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น
พิพากษายืน

Share