แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่ถือว่าเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยฐานเบิกความเท็จได้
ย่อยาว
คดีได้ความว่า โจทก์เป็นสามีนางเปี่ยมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๘๙ จำเลยได้ทำนิติกรรมที่อำเภอยกสวนยางกับทรัพย์อื่นบางอย่างให้เป็นสิทธิแก่นางเปี่ยม ๆ กับโจทก์ได้เข้าครอบครองทรัพย์ที่จำเลยยกให้ตลอดมา ภายหลังนางเปี่ยมตายจำเลยได้ฟ้องโจทก์ขอให้ห้ามโจทก์ไม่ให้ตัดยางในสวนที่จำเลยยกให้นางเปี่ยม และต่อมาได้ฟ้องโจทก์ในคดีแดงที่ ๓๒๗/๒๔๙๑ อีกสำนวนหนึ่ง จำเลยได้เข้าเบิกความเป็นพยานในสำนวนหลังนี้ว่า “เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ เดือนเมษายน ข้าพเจ้ากับนางเปี่ยมมาอำเภอห้วยยอด ทำสัญญาให้นางเปี่ยมเก็บกินที่พิพาทจนตลอดชีวิต ฯลฯ ซึ่งความจริงจำเลยได้ยกให้เป็นกรรมสิทธิแก่นางเปี่ยมดังกล่าวมาแล้ว
โจทก์จึงฟ้องหาว่าจำเลยเบิกความเท็จ
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่เป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๕๕ ตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าขณะจำเลยฟ้องคดีแพ่งแดงที่ ๓๒๗/๒๔๙๑ นั้นโจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่รายพิพาทอยู่หากจำเลยชนะคดีเรื่องนั้นโจทก์ก็ต้องเสียสิทธิในการครองครอบที่ราย พิพาทและอาจต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมในคดีเรื่องนั้นแทนจำเลย จึงได้ชื่อว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๒ และมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ดังศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา
จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามศาลชั้นต้น