คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เคยพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีก่อน เพราะเหตุโจทก์ไม่ลงลายมือชื่อในฟ้อง ทำให้ฟ้องโจทก์ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 (7) ก็ตาม แต่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้และขอให้ศาลชั้นต้นนำสำนวนคดีเดิมซึ่งโจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานมาผูกโยงเข้ากับสำนวนคดีนี้ พยานเอกสารทั้งหมดจึงถือว่าเป็นพยานเอกสารที่โจทก์อ้างในคดีนี้ ระหว่างสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นได้ให้จำเลยตรวจสอบพยานเอกสาร จำเลยมิได้โต้แย้งความถูกต้องแต่อย่างใด เมื่อในสำนวนคดีมีเอกสารเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจสอบข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยว่าจำเลยเคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนหรือไม่ ซึ่งได้รับแจ้งว่า ไม่พบรายการตามที่ขอตรวจสอบ แสดงว่าจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ทั้งพนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ว่า บิดาของจำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลาง จึงมีความหมายชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลาง นอกจากนี้ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยปรากฏว่าจำเลยรับว่าไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนจริง โดยพนักงานสอบสวนเบิกความรับรองเอกสาร เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์ได้นำพยานหลักฐานมาสืบแล้วว่า จำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสำเภา มารดานายดาวรุ่ง ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 20 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 20 ปี 12 เดือน
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ลงโทษจำคุก 20 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 ปี ข้อหาอื่นให้ยก อาวุธปืนของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันฟังยุติในชั้นนี้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปที่ร้านค้าของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย พบนายยงยุทธ ซึ่งมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่งานเลี้ยงบ้านนายบุญเส็งอยู่ในร้านดังกล่าว กับพบผู้ตาย นายทุเรียน นายธนู นายณัฐวุฒิ นายบุญรอด นายพยงค์ นายทุเรียน และนายเอกพลหรือตี๋ ร่วมวงดื่มสุราและเบียร์กันอยู่ ผู้ตายเดินเข้ามาคุยกับจำเลย ต่อมาจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นรีวอลเวอร์ ขนาด .32 ของนายบรรเจิด บิดาจำเลย ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนยิงในที่เกิดเหตุ 3 นัด แล้วผู้ตายกับจำเลยตกลงไปในคลองชลประทานริมถนนฝั่งตรงข้ามร้านค้าของโจทก์ร่วม เมื่อนำผู้ตายขึ้นจากคลองปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลถูกยิง 1 นัด ที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา ทะลุอวัยวะภายในตัดทำลายเส้นเลือดแดงช่องท้อง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ส่วนจำเลยถูกพวกผู้ตายบางคนทำร้ายขณะอยู่ในคลองเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าผากและตาขวา ตามรายงานชันสูตรพลิกศพและภาพถ่ายบาดแผลจำเลยในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1220/2547 ของศาลชั้นต้น ในคืนเกิดเหตุร้อยตำรวจเอกสำรวม พนักงานสอบสวนไปที่เกิดเหตุยึดได้อาวุธปืนจากคลองพร้อมปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิงแล้ว 5 ปลอก กระสุนปืนที่ยังไม่ได้ยิง 1 นัด กับยึดหัวกระสุนปืน 1 ลูกจากศพผู้ตายเป็นของกลาง ทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว ต่อมามีการโอนสำนวนการสอบสวนให้พันตำรวจโทจินดาดำเนินการซึ่งก็ได้สอบคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนไว้ สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกฟ้อง เพราะขาดอายุความฟ้องร้อง ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ความผิดในฐานดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ตามฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เคยพิพากษายกฟ้องโจทก์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1220/2547 ของศาลชั้นต้น เพราะเหตุโจทก์ไม่ลงลายมือชื่อในฟ้อง ทำให้ฟ้องโจทก์ในคดีไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (7) ก็ตาม แต่โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้และขอให้ศาลชั้นต้นนำสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1220/2547 ซึ่งโจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานมาผูกโยงเข้ากับสำนวนคดีนี้ พยานเอกสารทั้งหมดจึงถือว่าเป็นพยานเอกสารที่โจทก์อ้างในคดีนี้ และระหว่างสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นได้ให้จำเลยตรวจสอบพยานเอกสารแล้ว ซึ่งจำเลยมิได้โต้แย้งความถูกต้องแต่อย่างใด เมื่อในสำนวนคดีที่พันตำรวจโทจินดาขอตรวจสอบข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ว่าจำเลยเคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนหรือไม่ ซึ่งก็ได้รับแจ้งว่า ไม่พบรายการตามที่ขอตรวจสอบ แสดงว่าจำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ทั้งพันตำรวจโทจินดาเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ว่า นายบรรเจิด บิดาของจำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลาง จึงมีความหมายชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลาง นอกจากนี้ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับว่าจำเลยไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนจริง โดยโจทก์มีพันตำรวจโทจินดาเบิกความรับรองเอกสารดังกล่าว เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้นำพยานหลักฐานมาสืบแล้วว่า จำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ศาลจึงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตไว้ในครอบครอง จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 9 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นแล้วเป็นจำคุก 15 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share