แหล่งที่มา : ADMIN
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้ออกเช็คให้ผู้เสียหายเพื่อเป็นหลักฐานแห่งการรับเงิน. ฉะนั้นย่อมแสดงว่าคู่กรณี.ไม่มีเจตนา.ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น. จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3. ถึงแม้จะมีการแก้เช็คกัน (แก้วันที่) ก็ยังไม่พอฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เงินตามเช็คนั้น.
ย่อยาว
โจทก์ร่วมฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 1 เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2511 คดีนี้โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม2509 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจออกเช็คของธนาคารไทยพัฒนา จำกัดสำนักงานใหญ่ เลขที่ จี.806402 สั่งจ่ายเงิน 70,000 บาทให้แก่นายณรงค์ ภูมิตระกูล โดยให้ไปรับเงินได้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม2509 เป็นต้นไป เป็นการแลกเงินสดจากนายณรงค์ ภูมิตระกูล นายณรงค์ภูมิตระกูลได้นำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด สำนักงานใหญ่เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2509 เพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารไทยพัฒนาจำกัด สำนักงานใหญ่ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้นและส่งเช็คกับใบคืนเช็คมา เพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทั้งนี้โดยจำเลยออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น โดยวันที่จำเลยออกเช็ค เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2509จำเลยมีเงินอยู่ในบัญชี 14,696 บาท 90 สตางค์ วันสั่งจ่ายวันที่19 มีนาคม 2509 จำเลยมีเงินอยู่ในบัญชี 56,380 บาท 70 สตางค์และวันที่ผู้เสียหายนำเช็คไปขึ้นเงินจำเลยมีเงินเหลืออยู่ในบัญชีเพียง587 บาท 45 สตางค์ เหตุเกิดที่ตำบลเทพศิรินทร์ อำเภอป้อมปราบและตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพุทธศักราช 2497 มาตรา 3 กับขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงของศาลอาญาที่ 1602/2510 ด้วย จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณา นายณรงค์ ภูมิตระกูล ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังเป็นที่สงสัยว่า จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหายเพื่อเป็นหลักฐานแห่งการฝากเงินมิได้มีเจตนาให้จ่ายเงินตามเช็ค จึงควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าเป็นเรื่องผู้เสียหายฝากเงินให้จำเลยไปหมุนหาดอกเบี้ย จำเลยออกเช็คให้แทนใบรับเงินเพื่อเป็นหลักฐานการรับเงินของผู้เสียหายเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องจำเลยกู้ยืมเงินดังโจทก์กล่าวอ้าง จึงไม่ถือว่าจำเลยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ร่วมฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์เฉพาะที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าการที่จำเลยออกเช็คเพื่อเป็นหลักฐานการรับฝากเงินจากผู้เสียหายจะถือว่าจำเลยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือไม่ ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีแล้ว ในชั้นฎีกาศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นายณรงค์ผู้เสียหายกับจำเลยเคยรู้จักกันมาก่อน 3-4 ปีแล้วได้เคยฝากเงินให้จำเลยนำไปหาผลประโยชน์ให้คนอื่นกู้เพื่อเอาดอกเบี้ยมาให้ผู้เสียหาย ในการรับเงินจำเลยได้ทำหลักฐานไว้ 2 ประการ คือจำเลยลงนามรับรู้ไว้ในสมุดเล็ก ๆ อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งจำเลยออกเช็คเท่าจำนวนเงินที่ผู้เสียหายฝากจำเลยไว้ ผู้เสียหายได้นำเงินฝากจำเลยเมื่อวันที่19 มกราคม 2509 จำเลยจึงออกเช็คของกลางให้โจทก์ยึดถือไว้ ถึงกำหนดวันสั่งจ่ายตามเช็ควันที่ 19 มีนาคม 2509 ผู้เสียหายได้นำเช็คเข้าบัญชีให้ธนาคารเรียกเก็บเงิน ธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สำนักงานใหญ่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คและส่งเช็คกับใบคืนเช็ค เพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ผู้เสียหายจึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในเรื่องนี้ ปัญหามีว่าจำเลยออกเช็คเพื่อเป็นหลักฐานการรับฝากเงินจากผู้เสียหายจะถือว่าจำเลยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คดังฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อผู้เสียหายและจำเลยตกลงออกเช็คให้กันเป็นหลักฐานแห่งการรับเงินเช่นนี้ ย่อมแสดงว่าคู่กรณีไม่มีเจตนาให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น การออกเช็คเช่นนี้ไม่ต่างกับใช้เช็คแทนใบรับเงินของจำเลย ฟังไม่ได้ว่า จำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยจึงไม่มีความผิด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พุทธศักราช 2497 มาตรา 3 เพียงแต่มีการแก้เช็คกัน กล่าวคือ เช็คครั้งแรกลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2509 แล้วขอแก้เป็นวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2509 ยังไม่พอให้ฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะใช้เงินตามเช็คดังที่โจทก์ร่วมฎีกามาคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์ร่วมอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อาศัยเหตุดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ให้ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนให้ยกฎีกาโจทก์ร่วม.