คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังส่งให้กรมสรรพสามิตต์จัดทำแสตมป์สุราขึ้นใช้ในสมัยที่ใช้ พ.ร.บ.ภาษีชั้นใน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2486 นั้น หาจำเป็นต้องออกเป็นกฎกระทรวงเสียก่อนดังเช่น พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 บังคับไว้ ก็สมบูรณ์และย่อมถือว่าแสตมป์สุรานั้นเป็นบัตรตาม ก.ม.แล้ว ผู้ใดมีไว้หรือใช้แสดมป์สุราปลอม ย่อมมีผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 216
ฟ้องหาว่าจำเลยมีและใช้แสตมป์สุราปลอม ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 216 นั้น ย่อมหมายถึงแสตมป์สุราตาม พ.ร.บ.ภาษีชั้นในนั่นเอง, แม้โจทก์ไม่อ้าง พ.ร.บ.ภาษีชั้นในมาก็หาทำให้เป็นการฟ้องเคลือบคลุมไม่
การมีแสตมป์สุราปลอมไว้จำหน่ายนั้นเป็นผิดมาตรา 216
ในกรณีที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงนั้น กฎหมายบัญญัติให้ศาลอุทธรณ์, ฎีกามีอำนาจสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดข้อเท็จจริงได้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ฎีกาเห็นไม่จำเบ็นต้องใช้อำนาจนั้น ก็ชี้ขาดข้อเท็จจริงไปได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจที่ ก.ม.ให้ไว้ดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยสมคบกันมีและใช้แสตมป์สุราปลอม อันเป็นบัตรที่รัฐบาลทำไว้ใช้ในราชการสรรพสามิตต์ ซึ่งเป็นส่วนของสรรพากร ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๑๖
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ของกลางไม่ใช่บัตราตามความใน ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๑๖ จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๑๖ ให้จำคุกจำเลยคนละ ๔ เดือน ของกลางให้ริบ
นายเกียงจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าแสตมป์สุราในสมัยที่จำเลยกระทำผิดนั้น กรมสรรพสามิตต์ได้กำหนดให้ทำขึ้นเพื่อใช้ในกิจการตาม พ.ร.บ. ภาษีชั้นใน (ฉะบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๘๖ มาตรา ๓ ข้อ ๔ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้สั่งให้จัดทำโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันเป็นการกระทำแสตมป์สุราขึ้นโดยชอบด้วย พ.ร.บ.ภาษีชั้นในฉบับนั้นแล้ว การที่โจทก์ไม่อ้าง พ.ร.บ.ภาษีชั้นใน ฉบับนั้นมาหาเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่ เพราะเมื่อฟ้องอ้างว่าแสตมป์สุราก็ต้องเป็นแสตมป์สุราตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยจะเถียงว่าจำเลยไม่รู้ ก.ม.อันว่าด้วยแสตมป์สุราย่อมฟังไม่ขึ้น
ข้อที่จำเลยคัดค้านว่าแสตมป์สุราไม่เป็นบัตราตามกฎหมาย เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ได้ออกกฎกระทรวงก่อนนั้น เห็นว่าการที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสั่งให้กรมสรรพสามิตต์จัดทำแสตมป์สุราขึ้นในสมัยที่ใช้ พ.ร.บ. ภาษีชั้นใน (ฉบับที่ ๔) ๒๔๘๖ นั้น หาจำเป็นต้องออกเป็นกฎกระทรวงเสียก่อน เช่น พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. ๒๔๙๓ บังคับไว้
ข้อที่คัดค้านว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้ชี้ขาดข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า ก.ม.บัญญัติให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นชี้ขาดข้อเท็จจริงได้เมื่อศาลอุทธรณ์ฎีกาเห็นไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจนั้น เช่นในคดีเรื่องนี้ก็ชี้ขาดข้อเท็จจริงไปได้ไม่ต้องใช้อำนาจที่กฎหมายให้ไว้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
จึงพิพากษายืน

Share