แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การตั้งผู้สอบบัญชีมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบบัญชีงบดุลที่บริษัทจัดทำขึ้นโดยตรวจจากสมุดบัญชี เอกสารประกอบการลงบัญชีและหลักฐานอื่น ๆ โดยผู้ประกอบวิชาชีพตามแนวทางปฏิบัติงานที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีได้กำหนดเป็นมาตรฐานไว้ เพื่อวินิจฉัยและแสดงความเห็นว่า งบการเงินที่จัดทำขึ้นมีความถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่เพียงใด ฐานะและบทบาทผู้สอบบัญชีจึงเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทในการควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารว่าได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับ มติที่ประชุมคณะกรรมการ มติที่ประชุมใหญ่และตามกฎหมายหรือไม่ ดูแลว่าบัญชีของบริษัทได้ลงไว้ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ทั้งเป็นผู้รับรองฐานะทางการเงินของบริษัทต่อผู้ถือหุ้นว่าฐานะทางการเงินตามที่แสดงไว้นั้นถูกต้อง ผู้สอบบัญชีจึงต้องแยกจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน กล่าวคือผู้สอบบัญชีจะเป็นกรรมการ ตัวแทนหรือลูกจ้างของบริษัทในขณะที่ตนเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทไม่ได้ ผู้สอบบัญชีต้องขึ้นตรงต่อผู้ถือหุ้น กฎหมายจึงกำหนดให้เฉพาะที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเท่านั้น ที่มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอนและให้บำเหน็จแก่ผู้สอบบัญชีตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1208 ถึง 1211 เว้นแต่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าคนร้องขอให้ศาลตั้งผู้สอบบัญชีประจำปี ตามมาตรา 1212
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมสามัญประจำปี 2545 ของบริษัทผู้คัดค้านในระเบียบวาระที่ 1 และที่ 2
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนมติที่ประชุมสามัญประจำปี 2545 ของผู้คัดค้านในระเบียบวาระที่ 1 และที่ 2 ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2545 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า การที่บริษัทผู้คัดค้านแต่งตั้งนางโชติมา ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เป็นผู้สอบบัญชีและรับรองงบดุลโดยมิได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นก่อนนั้น เป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นในระเบียบวาระที่ 1 และที่ 2 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2545 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า บริษัทผู้คัดค้านไม่ได้จัดทำงบดุลและไม่ได้จัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมาหลายปีแล้ว จึงไม่อาจมีการเลือกตั้งผู้สอบบัญชีก่อนได้ แต่เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปโดยชอบ บริษัทผู้คัดค้านจึงจัดทำงบดุลในปีที่ยังมิได้จัดทำ และแต่งตั้งให้นางโชติมาเป็นผู้สอบบัญชีและให้รับรองงบดุลเพื่อนำเสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นอันจะเป็นการแก้ไขข้อขัดข้องนี้ และที่ประชุมได้ให้สัตยาบันการแต่งตั้งดังกล่าว การประชุมจึงชอบแล้วนั้น เห็นว่า การตั้งผู้สอบบัญชีมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบบัญชีงบดุลที่บริษัทจัดทำขึ้น โดยตรวจจากสมุดบัญชี เอกสารประกอบการลงบัญชีและหลักฐานอื่น ๆ โดยผู้ประกอบวิชาชีพสอบบัญชีตามแนวทางปฏิบัติงานที่คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีได้กำหนดเป็นมาตรฐานไว้ เพื่อวินิจฉัยและแสดงความเห็นว่างบการเงินที่จัดทำขึ้นมีความถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่เพียงใด ฐานะและบทบาทผู้สอบบัญชีจึงเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทในการควบคุมการบริหารงานของฝ่ายบริหารว่าได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับ มติที่ประชุมคณะกรรมการ มติที่ประชุมใหญ่และตามกฎหมายหรือไม่ ดูแลว่าบัญชีของบริษัทได้ลงไว้ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ทั้งเป็นผู้รับรองฐานะทางการเงินของบริษัทต่อผู้ถือหุ้นว่า ฐานะทางการเงินตามที่แสดงไว้นั้นถูกต้อง ผู้สอบบัญชีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่นนี้ผู้สอบบัญชีจึงต้องแยกจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน กล่าวคือผู้สอบบัญชีจะเป็นกรรมการ ตัวแทนหรือลูกจ้างของบริษัทในขณะที่ตนเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทไม่ได้ ผู้สอบบัญชีต้องขึ้นตรงต่อผู้ถือหุ้น กฎหมายจึงกำหนดให้เฉพาะที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเท่านั้น ที่มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน และให้บำเหน็จแก่ผู้สอบบัญชีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1208 ถึง 1211 เว้นแต่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าห้าคนร้องขอให้ศาลตั้งผู้สอบบัญชีประจำปีตาม มาตรา 1212 ดังนั้นการที่บริษัทผู้คัดค้านแต่งตั้งนางโชติมาเป็นผู้สอบบัญชีและรับรองงบดุลโดยมิได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า กิจการของบริษัทผู้คัดค้านไม่ได้จัดทำงบดุลมาตั้งแต่ปี 2538 จนทำให้ธุรกิจมีข้อขัดข้องและเสียหายจึงต้องรวบรวมเอกสารจนสามารถจัดทำงบดุล ในปี 2545 ได้ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่เคยมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเลย จึงได้แต่งตั้งนางโชติมาผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีและรับรองงบดุลเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นนั้น ก็เห็นว่า แม้การไม่จัดทำงบดุลของบริษัทผู้คัดค้านเป็นเวลาหลายปี จะทำให้เกิดข้อขัดข้องและนำมาซึ่งความเสียหายของบริษัท ทั้งการที่บริษัทผู้คัดค้านได้พยายามรวบรวมเอกสารจนสามารถจัดทำงบดุลในปีที่ยังไม่ได้ทำข้างต้นเสร็จสิ้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่เมื่อจัดทำงบดุลเสร็จแล้ว การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีย่อมต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ฐานะและบทบาทของผู้สอบบัญชีตลอดจนวิธีการแต่งตั้งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้น ผู้สอบบัญชีจึงต้องได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเท่านั้น ซึ่งตามข้อเท็จจริงในคดีก็หาใช่เรื่องยากที่บริษัทผู้คัดค้านจะจัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อเลือกตั้งผู้สอบบัญชีเสียก่อน แต่บริษัทผู้คัดค้านกลับเลือกที่จะแต่งตั้งเสียเองจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ แม้บริษัทผู้คัดค้านจะอ้างว่าได้รับการให้สัตยาบันการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว ก็เห็นว่า การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีต้องได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น ไม่อาจตั้งโดยกรรมการแล้วนำมาขอรับสัตยาบันจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในภายหลัง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้คัดค้านในระเบียบวาระที่1 และที่ 2 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2545 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านนอกเหนือจากนี้ ผู้คัดค้านเพิ่งยกขึ้นอ้างจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ