คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1725/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ต้องกระทำการไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 และอยู่ในครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 และ 1144 เมื่อจำเลยที่ 2 ไปทำสัญญาโอนขายกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำที่อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 และบรรดาผู้ถือหุ้นก็ไม่เคยประชุมใหญ่อนุมัติให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาโอนขายได้ และสัญญานั้นจะโอนขายหุ้นทั้งหมดให้แก่โจทก์โดยมิได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 ดังนี้สัญญาโอนหุ้นและกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1ที่จำเลยที่ 2 กระทำไปนั้นจึงไม่ผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาในฐานะผู้แทนของบริษัทจำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาในฐานะส่วนตัว จำเลยที่ 2 จึงไม่ถูกผูกพันที่จะโอนหุ้นและส่งมอบกิจการของบริษัทให้แก่โจทก์ด้วย
สัญญามีใจความเพียงว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ตกลงโอนขายหุ้นของผู้ถือหุ้นทั้งหมดและรับรองว่าจะจัดให้ผู้ถือหุ้นเดิมลงชื่อโอนให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน การทำสัญญาดังนี้ ยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นจะนำมาตรา 1129 มาบังคับหาได้ไม่ จึงไม่อาจถือว่าข้อตกลงนี้เป็นโมฆะตามมาตราดังกล่าว
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายหุ้นและกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 แก่โจทก์โดยปราศจากอำนาจที่จะกระทำแทนบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 มิได้ให้สัตยาบันแก่การที่จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาและตามข้อเท็จจริงก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาโดยปราศจากอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์โดยลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823, 1167
ตามคำบรรยายฟ้องและสำเนาหนังสือสัญญาท้ายฟ้อง โจทก์กล่าวว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามแทนบริษัทจำเลยที่ 1 โดยแสดงให้ปรากฏในสัญญาว่าจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทและได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุมของผู้ถือหุ้นแล้ว ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยด้วยกันกับจำเลยที่ 1เช่นนี้ พอให้ถือได้ว่าโจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ด้วย ในเมื่อไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้
โจทก์รับซื้อกิจการเดินรถของจำเลยเพื่อดำเนินการเดินรถรับส่งคนโดยสาร เมื่อจำเลยไม่มอบกิจการให้ โจทก์ย่อมไม่ได้รับผลประโยชน์อันควรจะได้ นับว่าเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญา แม้โจทก์จะนำสืบแสดงจำนวนค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้แน่นอนว่าเป็นจำนวนเท่าใด ศาลย่อมกำหนดจำนวนเงินให้จำเลยชดใช้โจทก์ตามที่เห็นสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี
จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาไม่อาจโอนหุ้นและกิจการเดินรถให้แก่โจทก์ได้จึงต้องคืนเงินที่รับไว้จากโจทก์ และจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยผิดสัญญา เพราะไม่มีสิทธิจะเอาเงินไว้ และถือว่าผิดนัดมาตั้งแต่นั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนโดยมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ลงมติแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและผู้จัดการ จำเลยที่ 2 แต่เพียงคนเดียวมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ทำกิจการทั้งหลายแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2508 จำเลยได้ตกลงทำสัญญาขายหุ้นทั้งหมด ใบอนุญาตสัมปทานการเดินรถ รถยนต์โดยสาร 7 คัน และกิจการเดินรถสาย 35 ของบริษัทจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ เป็นเงิน465,000 บาท โดยจำเลยสัญญาว่าจะส่งมอบกิจการเดินรถในวันทำสัญญา แต่ในทางปฏิบัติได้ตกลงกันให้โจทก์รับมอบกิจการในวันที่ 1 เมษายน 2508 โจทก์ได้ชำระเงิน 65,000 บาท ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา ครั้นถึงวันที่ 1 เมษายน 2508 จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมโอนหุ้นทั้งหมดให้โจทก์ ไม่ยอมส่งมอบเอกสาร สมุดบัญชี และรถยนต์ให้ ไม่ยอมให้โจทก์เข้าดำเนินการรับส่งคนโดยสาร เก็บผลประโยชน์รายได้และยังไม่จดทะเบียนการโอนหุ้นและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โจทก์เตือนแล้ว จำเลยเพิกเฉย และจำเลยได้ขายกิจการเดินรถให้แก่บุคคลอื่นขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบกิจการเดินรถสาย 35 โอนหุ้นทั้งหมดส่งมอบรถยนต์ 7 คัน มอบสรรพเอกสารและทรัพย์สินต่าง ๆ ให้แก่โจทก์แล้วให้จำเลยรับเงินจากโจทก์ 200,000 บาท หากไม่สามารถมอบและโอนให้ได้ ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย หากไม่สามารถส่งมอบกิจการและทรัพย์สินรับโอนหุ้นให้ ก็ให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 65,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงทำสัญญาขายหุ้นทั้งหมดและขายใบอนุญาตสัมปทานให้โจทก์ หากจำเลยที่ 2 จะได้ทำสัญญากับโจทก์ ก็ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท จำเลยที่ 1 ไม่เคยรับเงินจากโจทก์จึงไม่มีหน้าที่คืนเงิน

จำเลยที่ 2 ให้การว่า เป็นประธานกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1มิได้เป็นกรรมการผู้จัดการตามฟ้อง กรรมการผู้จัดการคือนางสาวนวลฉวี บานเย็น และจำเลยที่ 2 หรือนายชูศักดิ์ บานเย็น คนใดคนหนึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ โดยต้องประทับตราด้วยจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาตามฟ้องจริง แต่มีข้อความไม่ตรงกับความจริงบางประการเช่น ระบุว่าจำเลยได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว ความจริงไม่ได้รับมอบที่ระบุว่าได้ชำระเงินในวันทำสัญญา 65,000 บาทนั้น ความจริงผู้ซื้อมอบเงินสดให้เพียง 15,000 บาท อีก 50,000 บาท ออกเช็คให้ ต่อมาโจทก์มาขอร้องว่าอย่าเพิ่งนำเช็คนั้นเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินในวันที่ 1 เมษายน 2508 ให้รอไว้จนกว่าจะส่งมอบกิจการเดินรถให้เสร็จก่อน จำเลยจึงเชื่อว่าโจทก์ไม่สุจริต ทำการฉ้อฉลหลอกลวงให้จำเลยทำสัญญา สัญญาจึงเป็นโมฆียะ ครั้นวันที่ 1 เมษายน 2508 โจทก์มาขอให้จำเลยส่งมอบกิจการเดินรถ จำเลยที่ 2 ได้ทวงเงินตามเช็ค โจทก์ไม่จ่ายเงินให้ จึงเป็นการผิดสัญญา จำเลยที่ 2 จึงไม่ยอมส่งมอบกิจการเดินรถให้ และได้บอกเลิกสัญญา ให้โจทก์รับเงิน 15,000 บาทพร้อมด้วยเช็ค 50,000 บาทคืนไป แต่โจทก์เพิกเฉย เมื่อโจทก์บิดพลิ้วผิดสัญญา จำเลยที่ 2 จึงจำเป็นต้องโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ให้ผู้อื่น บัดนี้จำเลยที่ 2 และผู้ถือหุ้นบางคนได้โอนหุ้นให้ผู้อื่นเป็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงกิจการ ค่าเสียหายตามฟ้องไม่เป็นความจริง

โจทก์ขอให้เรียกนายเชวง ยังสุข นายจิตต์ พงษ์เลื่องธรรมนายธนะผล เอกตระกูล และนายถม คงเจริญ เข้ามาเป็นจำเลยด้วยโดยอ้างว่าจำเลยกับพวกดังกล่าวร่วมกันโอนหุ้นและกิจการบริษัทจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลอนุญาต

จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ จำเลยได้รับซื้อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 คนละ 90 หุ้น ได้จ่ายเงินและทำสัญญาโอนจดทะเบียนการโอนโดยสุจริต หากโจทก์จะได้ตกลงรับซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 จากผู้ใด การโอนหุ้นก็ไม่มีการจดทะเบียนไว้ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้

จำเลยที่ 5 และที่ 6 ให้การว่า จำเลยซื้อหุ้นจากนางสาวฉวี บานเย็นและจำเลยที่ 2 โดยสุจริต ได้จ่ายเงินและจดทะเบียนโอนกันถูกต้องตามกฎหมาย

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามฟ้องโจทก์มุ่งประสงค์จะให้บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดตามสัญญาเพียงคนเดียว หาได้ประสงค์จะให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นส่วนตัวไม่ ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อแทนบริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3, 4, 5และ 6 ที่เข้ามาร่วมถือหุ้นและเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 หาได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ไม่ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำสัญญากับโจทก์โดยไม่ปรึกษาหารือรับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นเสียก่อนให้ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 สัญญาที่ทำไว้จึงไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 2 ทำนอกเหนือขอบอำนาจ ย่อมไม่ผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องให้ชัดแจ้งเพื่อให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นส่วนตัว เพียงแต่ขอรวมมาว่าให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เท่านั้น จะบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดยังไม่ได้ บริษัทจำเลยที่ 1รับเงินสดจากโจทก์เพียง 15,000 บาท อีก 50,000 บาทจ่ายเป็นเช็ค บริษัทจำเลยที่ 1 ชอบที่จะคืนให้โจทก์เรื่องค่าเสียหายโจทก์ยังไม่ได้เข้าไปจัดการเก็บผลประโยชน์เป็นแต่สิทธิในความหวัง ห่างไกลเกินกว่าเหตุโจทก์จึงไม่เสียหายข้อที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าหน้าดินนั้น ไม่เชื่อว่าโจทก์เช่าที่ดินไว้เพื่อเป็นอู่เก็บรถของสายการเดินรถบริษัทจำเลยที่ 1จะเรียกร้องเป็นค่าเสียหายไม่ได้ พิพากษาให้บริษัทจำเลยที่ 1 คืนเงิน15,000 บาทและเช็คให้โจทก์ กับชำระดอกเบี้ยในเงิน 15,000 บาทนับแต่วันทำสัญญา คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์จ่ายเงินกับเช็คให้จำเลยที่ 2 พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ 2 คืนเงิน 15,000 บาทกับเช็คให้โจทก์โดยไม่ต้องใช้ดอกเบี้ย และยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 1

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า บริษัทจำเลยที่ 1 มีกรรมการคือจำเลยที่ 2 นางสาวฉวี บานเย็น นายชูศักดิ์ บานเย็น และจดทะเบียนอำนาจกรรมการว่าจำเลยที่ 2 หรือนายชูศักดิ์คนใดคนหนึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 1 ได้ แต่ต้องประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2508 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กับโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาโอนขายหุ้นและกิจการเดินรถยนต์โดยสารสาย 35 ในราคา 465,000 บาท

เห็นว่า บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีสิทธิและหน้าที่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69 จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการผู้มีอำนาจซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ต้องกระทำการไปตามวัตถุประสงค์และข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นตามมาตรา 75 และ 1144 สัญญาโอนขายหุ้นและกิจการเดินรถซึ่งจำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์นั้นอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 ตามที่กำหนดไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ และบรรดาผู้ถือหุ้นไม่เคยประชุมใหญ่อนุมัติให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาโอนขายกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 การโอนหุ้นให้แก่โจทก์ก็มิได้รับอนุมัติโดยเสียงเห็นด้วย 3 ใน 4 จากที่ประชุมใหญ่ตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 สัญญานี้จึงไม่ผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1

เมื่อสัญญาขายหุ้นทั้งหมดและกิจการเดินรถรายนี้จำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาในฐานะผู้แทนของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 หาได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ด้วยไม่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงไม่ถูกผูกพันที่จะโอนหุ้นทั้งหมดและส่งมอบกิจการเดินรถให้แก่โจทก์

ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับการโอนหุ้นนี้เป็นโมฆะตามมาตรา 1129 นั้น เห็นว่า ตามสัญญามีใจความเพียงว่า บริษัทจำเลยที่ 1ตกลงโอนขายหุ้นทั้งหมดให้แก่โจทก์ภายใน 15 วันเท่านั้น การทำสัญญาฉบับนี้ยังมิใช่เป็นการดำเนินการโอนหุ้น จึงนำมาตรา 1129 มาบังคับหาได้ไม่

ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายและเรียกเงินคืนจากจำเลยนั้น โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาที่ตกลงไว้ว่าจะขายหุ้นทั้งหมดกับกิจการเดินรถให้โจทก์ แต่เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 แล้ว จำเลยเหล่านี้ก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่ฝ่ายจำเลยมิได้ปฏิบัติตามสัญญานั้น กับการคืนเงินด้วย

เฉพาะจำเลยที่ 2 นั้น แม้จะปรากฏว่าได้ทำสัญญาขายหุ้นและกิจการเดินรถให้แก่โจทก์โดยปราศจากอำนาจที่จะกระทำแทนบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อบริษัทจำเลยที่ 1 มิได้ให้สัตยาบันแก่การที่จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญา และตามข้อเท็จจริงก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาโดยปราศจากอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์โดยลำพังตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823, 1167 ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่นั้น ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา

เมื่อถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจะต้องรับผิดต่อโจทก์โดยลำพังตนเองแล้ว มีปัญหาว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมุ่งหมายจะให้บังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 โดยลำพังด้วยหรือไม่ ปรากฏว่าตามคำบรรยายฟ้องและสำเนาหนังสือสัญญาท้ายฟ้อง โจทก์กล่าวว่าบริษัทจำเลยที่ 1 ทำสัญญากับโจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามแทนบริษัทจำเลยที่ 1 โดยแสดงให้ปรากฏในสัญญาว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทและได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุมของผู้ถือหุ้นแล้ว ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามคำขอท้ายฟ้อง เช่นนี้ พอให้ถือได้แล้วว่า โจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ด้วย ในเมื่อไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้

ในเรื่องค่าเสียหาย ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์รับซื้อกิจการเดินรถรายนี้ก็เพื่อจะดำเนินการเดินรถรับส่งคนโดยสาร เมื่อจำเลยไม่มอบกิจการให้โจทก์ โจทก์ย่อมไม่ได้รับผลประโยชน์อันควรจะได้ นับว่าเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ให้แต่จำนวนค่าเสียหายในส่วนนี้โจทก์นำสืบแสดงไม่ได้แน่นอนว่าเป็นจำนวนเท่าใด ศาลได้พิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ให้ 40,000 บาท

ส่วนเรื่องเงินที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยคืนให้นั้น ฟังว่าโจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยที่ 2 เป็นเงินสด 15,000 บาท และเป็นเช็ค 50,000 บาทถึงแม้ว่าใบรับเงินจะลงไว้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงิน 65,000 บาท จำเลยที่ 2 ก็ยังนำสืบด้วยพยานบุคคลอธิบายว่าได้รับเป็นเงินสดบางส่วนกับเป็นเช็คบางส่วนได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับเงินและเช็คจากโจทก์เป็นการชำระราคาบางส่วนตามสัญญา แล้วผิดสัญญาไม่อาจโอนหุ้นและกิจการเดินรถให้โจทก์ได้จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงิน 15,000 บาทและเช็คที่รับไว้นั้นและเงินที่ต้องใช้คืนนี้ต้องคิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่จำเลยผิดสัญญา เพราะจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจะเอาเงินของโจทก์ไว้ และถือว่าผิดนัดมาตั้งแต่นั้น

พิพากษาแก้ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 40,000 บาทและให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนเงิน 15,000 บาท ที่จำเลยที่ 2ได้รับชำระไว้นั้น นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2508 จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share