คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเช่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก.ตำบล) และคณะกรรมการเช่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด (คชก.จังหวัด) ตาม พ.ร.บ.การเช่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 แต่ ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวเพียงบัญญัติว่า คชก.ตำบล และ คชก.จังหวัด ประกอบด้วย บุคคลใด บ้างไม่มีกฎหมายรับรองให้คณะกรรมการดังกล่าวมีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาแต่อย่างใด คณะกรรมการดังกล่าวจึงไม่อยู่ในฐานะ ที่ถูก ฟ้องร้องได้
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
โจทก์ส่งหนังสือบอกเลิกการเช่านาให้จำเลยผู้เช่านา และส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่า ไปยังคณะกรรมการควบคุมการเช่า ประจำอำเภอแล้วก่อนสิ้นระยะเวลาการเช่านาเกินกว่า 1 ปี และคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอมิได้ยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาตาม พ.ร.บ. ควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 มาตรา 39 วรรคท้าย การบอกเลิกการเช่านาของโจทก์จึงชอบด้วย กฎหมาย และมีผลใช้ บังคับ แม้ระหว่างสัญญาการเช่านายังไม่สิ้นสุดลง พ.ร.บ. ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 จะถูก ยกเลิกโดยพ.ร.บ. การเช่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 แต่ มาตรา 66แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้ถือว่าการเช่านาที่อยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 เป็นการเช่านาที่อยู่ในบังคับแห่งพ.ร.บ. ฉบับ ใหม่ต่อไป และมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.การเช่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ได้ บัญญัติเงื่อนไขและวิธีการที่ผู้ให้เช่านาจะต้อง ปฏิบัติเมื่อประสงค์จะให้การเช่า นาสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่านาไว้เช่นเดียวกับมาตรา 39แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ด้วย การบอกเลิกการเช่านาของโจทก์จึงชอบด้วย กฎหมายและมีผลใช้ บังคับต่อไป
เมื่อสัญญาเช่านาระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยจะเข้าทำนาของโจทก์ได้ อีกต่อเมื่อโจทก์มิได้ลงมือทำประโยชน์ภายใน1 ปี และจำเลยแสดงความจำนง จะเช่า นา ซึ่ง โจทก์จะต้อง ให้จำเลยเช่า นา เว้นแต่โจทก์จะร้องต่อ คชก.ตำบล ก่อนสิ้นกำหนด 1 ปีเพื่อขอขยายเวลาการเข้าทำประโยชน์ในที่นานั้นตาม มาตรา 38 แห่งพ.ร.บ. การเช่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เท่านั้น แต่ จำเลยร้องขอต่อ คชก.ตำบล ขอเช่า ทำนาของโจทก์ หลังจากสัญญาการเช่านาสิ้นสุดลงไม่ถึง 1 ปี และไม่ปรากฏว่าโจทก์ลงมือทำประโยชน์แล้วหรือไม่ คชก.ตำบล จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำร้อง ของ จำเลย เนื่องจากพ.ร.บ. การเช่า ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 หามีบทบัญญัติใด ให้อำนาจ คชก.ตำบล ที่จะวินิจฉัยคำร้อง ของ ผู้เช่านาในกรณีเช่นนี้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนมติหรือคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๓ เข้าทำนาในที่ดินของโจทก์โดยให้โจทก์เป็นผุ้เข้าทำประโยชน์ ห้ามจำเลยที่ ๓ เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพราะคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมประจำตำบลบ่อทองและกับคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมประจำจังหวัดปราจีนบุรีไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์บอกเลิกการเช่านาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ วินิจฉัยให้ยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ เพื่อให้จำเลยที่ ๓ เช่านามีกำหนดเวลา ๒ ปี โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ต่อจำเลยที่ ๒ เกินกำหนดจำเลยที่ ๒ จึงยกอุทธรณ์โจทก์ คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้เช่าที่นาของโจทก์ตามมติของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบ่อทอง จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โจทก์ไม่เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติหรือคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เสีย ห้ามจำเลยที่ ๓ เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเพียงบัญญัติว่า คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก.ตำบล) ก็ดี คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด (คชก.จังหวัด) ก็ดีประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง ไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการดังกล่าวมีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือเป็นบุคคลธรรมดาแต่อย่างใด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงไม่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาดันจะอยู่ในฐานะที่ถูกฟ้องร้องได้ ทั้งฟ้องโจทก์ก็แปลความไม่ได้ว่า โจทก์ฟ้องตัวบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมการเพราะโจทก์มิได้ระบุชื่อเป็นรายบุคคล โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้ แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนี้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนจำเลยที่ ๓ นั้นข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามเอกสารที่คู่ความแถลงรับกันว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๓ ได้เช่านาของโจทก์ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๖๓ ตารางวา มีกำหนด ๖ ปี จะสิ้นระยะเวลาเช่านาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า จำเลยที่ ๓ ชำระค่าเช่านาให้โจทก์ไม่ครบ โจทก์จึงให้บุคคลอื่นเข้าทำนาแทนจำเลยที่ ๓ ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ ๓ เกิดพิพาทกัน แต่ตกลงกันได้ด้วยการประนีประนอมยอมความตามสัญญลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๔ ปรากฎตามเอกสาร หมาย จ.๔ โดยให้จำเลยที่ ๓ เข้าทำนาของโจทก์ได้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ กับปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยที่ ๓ จะไม่เข้าเกี่ยวข้องกับที่นาของโจทก์อีกต่อไป วันเดียวกับโจทก์ได้แจ้งบอกเลิกการเช่านาไปยังจำเลยที่ ๓ ตามเอกสารหมาย จ.๒ และส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่าพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านาไปยังคณะกรรมการควบคุมการเช่า ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี ตามเอกสารหมาย จ.๓ คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบ่อทองได้มีคำวินิจฉัยให้จำเลยที่ ๓ เข้าทำนาของโจทก์ได้อีกต่อไป มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ ๓ มีสิทธิเช่าที่ดินของโจทก์ต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.๔ ได้ทำไว้เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๔ ก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่านาตามสัญญาเช่าทำนาระหว่างจำเลยที่ ๓ กับโจทก์ การที่จำเลยที่ ๓ ตกลงว่าจะออกไปจากที่นาของโจทก์เมื่อครบกำหนดและจะมอบที่นาคืนแก่โจทก์ จนโจทก์ได้แจ้งบอกกล่าวเลิกสัญญาการเช่านาไปยังจำเลยที่ ๓ เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่านาคือโจทก์กับผู้เช่านาคือจำเลยที่ ๓ ได้ตกลงที่จะเลิกสัญญาเช่านาพิพาทกันเมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่านาซึ่งโจทก์จะต้องบอกเลิกการเช่านาเป็นหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๓ ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี และต้องส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่านาพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านาไปยังคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอภายในสามสิบวันนับแต่วันส่งหนังสือบอกเลิกการเช่าให้จำเลยที่ ๓ ทราบตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกเลิกการเช่านาให้แก่จำเลยที่ ๓ และส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่าไปยังคณะกรรมการควบคุมการเช่าประจำอำเภอแล้วก่อนสิ้นระยะเวลาการเช่านาเกินกว่า ๑ ปี และคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอมิได้ยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๓๙ วรรคท้าย การบอกเลิกการเช่านาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับได้ แม้ในระหว่างที่สัญญาการเช่านายังไม่สิ้นสุดลงพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ จะถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งบังคับเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๒๔ แต่มาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ถือว่าการเช่านาที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นการเช่านาที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติฉบับใหม่ต่อไป และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้บัญญัติเงื่อนไขและวิธีการที่ผู้ให้เช่านาจะต้องปฏิบัติเมื่อประสงค์จะให้การเช่านาสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่านาไว้เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๙ แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ ด้วย เมื่อไม่ปรากฎว่า คชก. ตำบลบ่อทองมีมติให้ยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ก่อนสิ้นระยะเวลาการเช่านา การบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับได้ต่อไป เป็นผลให้สัญญาการเช่านาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ สิ้นสุดลงเมื่อสิ้นระยะเวลาการทำนา ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อการเช่านาสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ ๓ จะเข้าทำนาของโจทก์ได้อีกก็ต่อเมื่อกรณีต้องด้วยมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ กล่าวคือ จะต้องปรากฎว่าโจทก์ยังมิได้ลงมือทำประโยชน์ในที่นาภายในหนึ่งปีและจำเลยที่ ๓ แสดงความจำนงจะเช่านา ซึ่งโจทก์จะต้องให้จำเลยที่ ๓ เช่านา เว้นแต่โจทก์จะได้ร้องขอต่อ คชก. ตำบลก่อนสิ้นกำหนดหนึ่งปีเพื่อขอขยายเวลาการเข้าทำประโยชน์ในที่นานั้น แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ ร้องขอต่อ คชก. ตำบลบ่อทอง ขอเช่าทำนาของโจทก์ต่อไป เมื่อเริ่มฤดูทำนาปี พ.ศ. ๒๕๒๖ อันเป็นเวลาหลังจากสัญญาการเช่านาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ สิ้นสุดลงแล้ว ไม่ถึงหนึ่งปีและไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้ลงมือทำประโยชน์แล้วหรือไม่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ หากมีบทบัญญัติใดให้อำนาจ คชก. ตำบลที่จะวินิจฉัยคำร้องของผู้เช่านาในกรณ๊เช่นนี้ไม่ คชก. ตำบลบ่อทอง จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่ ๓ และไม่มีอำนาจที่จะยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ซึ่งการเช่านาได้สิ้นสุดลงไปแล้ว จำเลยที่ ๓ จึงไม่อาจจอ้างคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลบ่อทอง เพื่อเข้าทำนาในที่นาพิพาทต่อไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฏีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยที่ ๓ เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share