คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1724/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแสดง การเล่น หรือการกีฬา การประกวดหรือการกระทำใด ๆถ้าเจ้าของจัดขึ้นเพื่อเก็บเงินจากผู้ดู ย่อมเป็นมหรสพตามประมวลรัษฎากรมาตรา 130 คำว่า ‘ผู้ดู’ ตามมาตรานี้ หมายความถึงบุคคลผู้เข้าดูหรือเข้าฟังหรือเข้ามีส่วนแสดงมหรสพนั้น ๆ เอง ประเภทใดประเภทหนึ่งก็ได้แล้วแต่ประเภทของมหรสพ ‘ค่าดู’ มหรสพไม่ใช่หมายถึงเงินค่าตั๋วแต่อย่างเดียว เงินค่าอย่างอื่น เช่นเงินค่าเล่น หรือค่าเกมการเล่นโบว์ลิ่งก็เป็นค่าดูตามมาตรานี้ด้วย
การจัดให้มีการเล่นโบว์ลิ่ง โดยเก็บเงินผู้เข้าเล่น ซึ่งเป็นผู้เข้ามีส่วนแสดงในการเล่น เป็นการเก็บเงินจากผู้ดูตามกฎหมายแล้วแม้จะไม่เก็บเงินจากผู้เข้าชมหรือดูการเล่นเฉย ๆ ก็เป็น ‘มหรสพ’ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 130 อันจะต้องเสียอากรตามกฎหมาย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 28/2513)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องมีใจความว่า จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้จัดให้มีมหรสพการเล่นโบว์ลิ่ง เรียกเก็บเงินจากผู้เล่นเป็นรายตัว โดยมิได้เสียอากรมหรสพตามประมวลรัษฎากร มาตรา 133 ให้โจทก์นำเงินไปชำระ แต่โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องเสียอากรมหรสพ จึงฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้จัดให้มีการเล่นโบว์ลิ่งโดยโจทก์เก็บเงินจากผู้เข้าเล่นเป็นรายตัวและรายเกมที่เล่น แต่มิได้เก็บเงินจากผู้เข้าชมหรือดูการเล่นเฉย ๆ เลย

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า การเล่นโบว์ลิ่งตามที่คู่ความแถลงรับกันเช่นนี้เป็น “มหรสพ” ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 130 หรือไม่

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาดูความหมายของคำว่า “มหรสพ”เข้าดู “ผู้ดู” และ “เจ้าของ” ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 130 (และพระราชบัญญัติแก้ไข (ฉบับที่ 16) แล้วเห็นว่า “มหรสพ” ตามกฎหมายนี้มีความหมายกว้างขวาง คือ จะเป็นการแสดง การเล่นหรือการกีฬา การประกวดหรือการกระทำใด ๆ ก็ตามถ้าเจ้าของจัดขึ้นเพื่อเก็บเงินจากผู้ดูย่อมเป็นมหรสพตามกฎหมายนี้ทั้งสิ้น อันจะต้องเสียอากรมหรสพ การเล่นโบว์ลิ่งที่โจทก์จัดขึ้น จะเป็นการเล่นหรือการกีฬาหรือการประกวดชนิดหนึ่งก็ตาม ย่อมมีลักษณะเป็นมหรสพอย่างหนึ่ง ตามคำนิยามของกฎหมาย ซึ่งถ้าโจทก์จัดขึ้นโดยไม่เก็บเงินจากผู้ดูเลย หรือเก็บเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นที่ไม่ใช่เงิน จึงจะไม่เป็นมหรสพ แต่คดีนี้โจทก์เก็บเป็นเงินจึงต้องพิจารณาต่อไปว่าเก็บจาก “ผู้ดู” หรือไม่

พิจารณาจากคำนิยามของคำว่า “เข้าดู” ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 130 แล้ว เห็นว่า ผู้ดูตามกฎหมาย (นี้) หมายถึง บุคคลผู้เข้าดู เข้าฟังหรือเข้ามีส่วนแสดงมหรสพนั้นเองประเภทใดประเภทหนึ่งก็ได้ ถ้าเป็นมหรสพประเภทที่ให้บุคคลภายนอกเข้ามีส่วนแสดง (เพื่อความเพลิดเพลินของผู้ดูนั้นเอง) บุคคลผู้เข้ามีส่วนแสดงมหรสพนั้น ๆ เอง เป็นผู้ดูตามกฎหมาย กฎหมายใช้คำว่า “หรือ เข้ามีส่วนแสดงมหรสพ” ซึ่งหมายความว่า เข้ามีส่วนในการเล่นหรือเข้ามีส่วนแสดงในการกีฬา เข้ามีส่วนแสดงในการประกวดหรือเข้ามีส่วนแสดงในการกระทำใด ๆ ที่เจ้าของจัดขึ้นบุคคลเหล่านี้ย่อมเป็นบุคคลที่เข้าดู คือ เป็น “ผู้ดู” ตามกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น

การที่กฎหมายนิยมคำว่า “ผู้ดู” หมายความถึงบุคคลที่เข้าดูโดยนิยามคำว่า “เข้าดู” ไว้ด้วย แสดงเจตจำนงหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า “ผู้ดู” มหรสพ มิได้มีความหมายอย่างที่สามัญชนเข้าใจ แต่มีความหมายพิเศษด้วยว่า ผู้เข้ามีส่วนแสดงมหรสพนั้นเองก็เป็น “ผู้ดู” อีกประเภทหนึ่งตามกฎหมายด้วย และข้อความในประมวลรัษฎากรตั้งแต่มาตรา 131 ถึง 143 ก็ไม่มีข้อความใดที่จะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากคำนิยามของคำว่า “เข้าดู” และ “ผู้ดู” ตามความในวรรคแรกของมาตรา 130 โดยเฉพาะในมาตรา 135 ที่บัญญัติห้ามมิให้เจ้าของมหรสพอนุญาตให้ผู้ใดเข้าดูโดยไม่เสียค่าดูและเสียอากรแล้วนั้น กฎหมายก็ยังใช้คำว่า “เข้าดู” เป็นพิเศษ ซึ่งต้องแปลคำนี้ตามคำนิยามในมาตรา 130 อยู่นั่นเองว่าหมายความตลอดถึงบุคคลที่เข้าดู เข้าฟัง หรือเข้ามีส่วนแสดงมหรสพนั้น ๆ เองก็ได้

เมื่อการเล่นโบว์ลิ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของคำว่า “มหรสพ” และโจทก์จัดสถานที่มีเครื่องอุปกรณ์ไว้ให้เล่น ผู้ใดประสงค์จะเข้าเล่นต้องแสดงความจำนงต่อโจทก์และได้รับอนุญาตให้เข้าเล่น โดยเสียเงินค่าเล่นหรือค่าเกมการเล่น ซึ่งจะเล่นเพื่อออกกำลังกาย หรือเพื่อความเพลิดเพลิน และเพื่อแข่งขันกันในบางโอกาส ก็ต้องถือว่าผู้เข้าเล่นเองเป็น “ผู้มีส่วนแสดงมหรสพ” ตามกฎหมาย (นี้) คือ เป็นผู้มีส่วนแสดงในการเล่นโบว์ลิ่งนั้นเองจึงเป็นบุคคลที่เข้าดู คือเป็น “ผู้ดู” ตามกฎหมายประเภทหนึ่ง เมื่อโจทก์เก็บเงินจากผู้เข้าเล่นเป็นรายตัวและรายเกมที่เล่น ถึงแม้จะไม่เก็บเงินจากผู้เข้าชมหรือดูการเล่นเฉย ๆ ก็ต้องถือว่าเป็น “มหรสพ” ที่โจทก์จัดขึ้นเพื่อเก็บเงินจาก “ผู้ดู” ตามกฎหมายได้แล้ว

อนึ่ง เงินค่าเล่นหรือค่าเกมการเล่นโบว์ลิ่งนั้น จะเห็นได้ว่า เป็น “ค่าดู”ตามกฎหมายด้วย เพราะตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาตรา 59 ว่า “ค่าดู” หมายความว่า “เงินที่ผู้ดูเสียเป็นค่าตั๋ว รวมตลอดถึงค่าอย่างอื่นที่เสียให้แก่เจ้าของ” เงินค่าเล่นหรือค่าเกมการเล่นโบว์ลิ่งย่อมเป็นค่าอย่างอื่น ที่ผู้เข่าเล่นเสียให้แก่เจ้าของสถานโบว์ลิ่งจึงเป็น “ค่าดู” ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 130 นั่นเอง เพราะฉะนั้น โจทก์จึงต้องเสียอากรมหรสพตามจำนวนเงินค่าเล่น ซึ่งเป็นค่าดูตามมาตรา 130 และรัฐเรียกเก็บเป็นรายตัวผู้เข้าเล่น ซึ่งเป็นผู้ดูตามมาตรา 132 ถูกต้องตามที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์แล้ว

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงมีมติว่า การที่โจทก์จัดให้มีการเล่นโบว์ลิ่งโดยเก็บเงินจากผู้เข้าเล่นซึ่งเป็นผู้เข้ามีส่วนแสดงในการเล่น เป็นการเก็บเงินจากผู้ดูตามกฎหมายแล้ว แม้จะไม่เก็บเงินจากผู้เข้าชมหรือดูการเล่นเฉย ๆ ก็เป็น “มหรสพ” ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 130 อันจะต้องเสียอากรมหรสพตามกฎหมาย

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share