คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ ว. ผู้ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์และ ย. ผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อต่างขับแซงรถยนต์กระบะที่แล่นอยู่ด้านหน้าและรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันที่บริเวณกลางถนน ต้องถือว่าเหตุที่รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของ ว. และ ย. ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันโจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของ ย. ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน 80-2130 นราธิวาส จากนายเชย ชุมเลิศ มีกำหนดเวลาคุ้มครอง 1 ปี นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2538 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0278 ตรัง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2538 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา นายวิเชียร เดชดี ลูกจ้างของจำเลยทั้งสองขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวบรรทุกเมล็ดกาแฟสดตามที่ได้รับมอบหมายหรือในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปตามทางหลวงสาย 41 ถนนชุมพร – พัทลุง ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ด้วยความเร็วสูงไปถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 172 ถึง 173 ตำบลท่าเรือ อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี แซงรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ – 4966 ปัตตานี ในที่คับขันเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน (ป้ายแดง) จ – 5128 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์บรรทุกหกล้อซึ่งโจทก์รับประกันภัยที่แล่นสวนในระยะกระชั้นชิด ทำให้รถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสันหักหลบไปทางไหล่ทางด้านซ้ายและเป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อที่นายวิเชียรขับชนรถยนต์บรรทุกหกล้อดังกล่าวและรถยนต์กระบะ 2 คันดังกล่าวได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้นายวิเชียร และนายวิทยา แดงจันทรา ผู้ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อถึงแก่ความตาย ผลจากการทำละเมิดของนายวิเชียรเป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกหกล้อที่โจทก์รับประกันภัยนั้นได้รับความเสียหายไม่อาจซ่อมแซมได้ โจทก์ได้คืนทุนเอาประกันให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 300,000 บาท และโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากความตายของผู้ขับและคนโดยสาร 1 คน เป็นเงิน 50,000 บาท ค่าสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นค่าเสียหายในเบื้องต้น 1 คน เป็นเงิน 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 360,000 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองพร้อมด้วยเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งโจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทน จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 6,750 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 366,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 360,000 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 70-0278 ตรัง เหตุละเมิดมิได้เกิดจากความประมาทของนายวิเชียร เดชดี ผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เกิดจากความประมาทของนายวิทยา แดงจันทรา ผู้ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อ หมายเลข ทะเบียน 80-2130 นราธิวาส โดยนายวิทยาขับรถยนต์บรรทุกหกล้อด้วยความเร็วสูงแซงรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน จ – 5128 กรุงเทพมหานคร ในที่คับขันล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกสิบล้อซึ่งแล่นสวนไปในระยะกระชั้นชิด จึงเกิดเหตุชนกัน รถยนต์บรรทุกหกล้อได้รับความเสียหายหากซ่อมเสียค่าใช้จ่ายไม่เกิน 5,000 บาท โจทก์ยังไม่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของรถยนต์บรรทุกหกล้อ จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกหกล้อ หมายเลขทะเบียน 80 – 2130 นราธิวาส ไว้จากนายเชย ชุมเลิศ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2538 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ขณะที่นายวิทยา แดงจันทรา ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อที่โจทก์รับประกันภัยแล่นตามหลังรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน จ – 5128 กรุงเทพมหานคร ไปตามทางหลวงสาย 41 ตำบลท่าเรือ อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึงหลักกิโลเมตรที่ 172 ถึง 173 สภาพถนนเป็นทางตรง ผิวจราจรลาดยางกว้าง 7 เมตร มีเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนให้รถยนต์แล่นสวนทางกันด้านละ 1 ช่องเดินรถ และมีไหล่ทางกว้างด้านละ 2 เมตร ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ. 12 ขณะนั้นนายวิเชียร เดชดี ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 70 – 0278 ตรัง ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 แล่นตามหลังรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน บ – 4966 ปัตตานี สวนทางมา รถยนต์บรรทุกหกล้อและรถยนต์บรรทุกสิบล้อแล่นเข้าชนกัน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันได้รับความเสียหายนายวิทยาและนายวิเชียรถึงแก่ความตาย โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 360,000 บาท ตามสัญญาประกันภัยแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า นายวิทยาผู้ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อไม่ยิ่งหย่อนกว่านายวิเชียรผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีนายเนรมิตร แก้วรักษา ผู้ขับรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้าเบิกความว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อแล่นตามหลังมาในระยะห่าง 3 ถึง 4 เมตร แล้วแซงรถยนต์กระบะยี่ห้อโตโยต้าไป แต่ยังไม่เข้าช่องเดินรถของตนก็ชนกับรถยนต์บรรทุกหกล้อ นายประทีป พงษ์สวัสดิ์ และนางเพ็ญนภา พงษ์สวัสดิ์ ผู้ขับและผู้นั่งโดยสารมาในรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสันก็เบิกความว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อแล่นแซงรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้าล้ำเข้ามาทำให้นายประทีปต้องขับรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสันหลบลงไปที่ไหล่ทาง ส่วนรถยนต์บรรทุกหกล้อแซงรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสันไปโดยไม่ได้ล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ประกอบกับหลังเกิดเหตุพนักงานของโจทก์ได้พบรอยครูดที่ผิวถนนในช่องเดินรถยนต์บรรทุกหกล้อ ตามภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุในรายงานการตรวจวิเคราะห์อุบัติเหตุเอกสารหมาย ป.จ. 1 (ศาลแพ่ง) แสดงว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกหกล้อนั้น ได้ความจากพันตำรวจตรีวิชอบ เกิดเกลี้ยง พยานโจทก์ซึ่งขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่นายร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านนาเดิมและเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ว่า จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบผลปาล์มและสัปะรดที่รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันบรรทุกมาแตกละเอียดเกลื่อนบนถนน ไม่พบรอยห้ามล้อหรือรอยยาง รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันจอดอยู่ในจุดที่ไม่ใช่จุดชน พันตำรวจตรีวิชอบไม่อาจสันนิษฐานจุดชนของรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันจากร่องรอยในที่เกิดเหตุได้ แต่จากการสอบปากคำพยานบุคคลในที่เกิดเหตุได้ความว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันต่างขับแซงรถยนต์กระบะซึ่งแล่นอยู่ด้านหน้าขึ้นมาจึงเกิดเหตุชนกันเป็นความประมาทของคนขับรถยนต์บรรทุกทั้งสองคัน ฎีกาของโจทก์ที่ยกคำเบิกความของนายเนรมิต นายประทีป และนางเพ็ญนภามาอ้างว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกหกล้อ เป็นเพียงคำเบิกความบางตอนเฉพาะที่เป็นคุณแก่โจทก์ แต่ปรากฏว่านายเนรมิตเบิกความตอบทนายโจทก์ต่อจากข้อความที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า ขณะรถยนต์บรรทุกสิบล้อแซงรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้านั้นได้ขับเข้าไปในช่องเดินรถยนต์ที่แล่นสวนทางมาส่วนรถยนต์บรรทุกหกล้อได้ขับแซงรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสันและล้ำเข้ามาในช่องเดินรถของรถยนต์ที่แล่นสวนทางไป แล้วชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบริเวณกึ่งกลางถนน นางเพ็ญนภาเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านตรงกับที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันต่างขับแซงขึ้นมาและชนกันที่กึ่งกลางถนน นายประทีปแม้จะไม่เห็นเหตุการณ์ว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันที่จุดใด แต่ก็เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุได้ขับรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสันหลบลงไปที่ไหล่ทางครึ่งคัน ไม่กล้าหลบลงไปที่ไหล่ทางมากเพราะมืดและไหล่ทางสูง การที่นายประทีปขับรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสันหลบลงไปที่ไหล่ทางเพียงครึ่งคัน ย่อมมีผลทำให้รถยนต์บรรทุกหกล้อที่ขับแซงรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสัน ต้องล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังที่นายเนรมิตเบิกความไว้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า หลังเกิดเหตุพนักงานของโจทก์พบรอยครูดที่ผิวถนนในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกหกล้อตามภาพถ่ายที่ 22 ถึง 25 ในรายงานการตรวจวิเคราะห์อุบัติเหตุเอกสารหมาย ป.จ. 1 (ศาลแพ่ง) นั้น โจทก์ก็รับข้อเท็จจริงในฎีกาว่า มีคราบน้ำมันเครื่องและคราบน้ำกรดแบตเตอรี่อยู่ในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกสิบล้อด้วย ร่องรอยการชนจึงปรากฏอยู่ในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกทั้งสองฝ่าย ร่องรอยทั้งหมดดังกล่าวอาจเกิดจากแรงเหวี่ยงของรถยนต์บรรทุกแต่ละคันเมื่อได้ชนปะทะกันแล้วก็เป็นได้ การพบรอยครูดที่ผิวถนนในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกหกล้อจึงไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่ารถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันในช่องเดินรถของรถยนต์บรรทุกหกล้อดังที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงน่าเชื่อตามที่นายเนรมิตและนางเพ็ญนภา เบิกความว่า รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันบริเวณกลางถนน การที่นายวิทยาผู้ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์และนายวิเชียรผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อต่างขับแซงรถยนต์กระบะที่ขับอยู่ด้านหน้าแล้วรถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันที่บริเวณกลางถนน ต้องถือว่าเหตุที่รถยนต์บรรทุกทั้งสองคันชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายวิทยาและนายวิเชียรไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาเกี่ยวกับค่าเสียหายของโจทก์อีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share