คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์แถลงขอคัดสำเนาในวันรุ่งขึ้นต่อมาอีก 1 เดือนโจทก์ยื่นคำร้องว่ายังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาจึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 15 วัน ศาลชั้นต้นสั่งในวันถัดมาว่าอนุญาตให้ขยายระยะเวลาแต่กำหนดวันให้น้อยกว่าที่โจทก์ขอ ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบเพราะศาลชั้นต้นมิได้สั่งในวันเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นคำร้อง เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด จะถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วมิได้ เหตุที่เกิดขึ้นมิใช่ความผิดของโจทก์ หากแต่เกิดจากความบกพร่องของศาลชั้นต้นเอง นับว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดในครั้งแรกได้ กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในครั้งที่สองต่อไปได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ตามสัญญาจำนอง หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 28 มกราคม 2542 ในวันดังกล่าวทนายโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาเนื่องด้วยคดีมีทุนทรัพย์สูงจึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นเวลา 15 วัน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2542 ว่า อนุญาตถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์2542 ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก15 วัน โดยอ้างว่าเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาและคดีมีทุนทรัพย์สูง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเป็นการยื่นคำร้องล่วงเลยระยะเวลาที่ขยายให้ครั้งแรกและมิใช่เหตุสุดวิสัย ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในวันที่ 28ธันวาคม 2541 แล้ว โจทก์ยื่นคำแถลงขอสำเนาคำพิพากษาในวันรุ่งขึ้น ต่อมาวันที่ 28มกราคม 2542 โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาเนื่องด้วยคดีมีทุนทรัพย์สูงจึงขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นเวลา 15 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันถัดมาว่า อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 ซึ่งน้อยกว่าระยะเวลาที่โจทก์ขอ แม้ท้ายคำร้องของโจทก์จะมีหมายเหตุข้อความว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว แต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในวันเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นคำร้อง ศาลชั้นต้นจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบ ข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่ได้มีการแจ้งคำสั่งของศาลชั้นต้นให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด จึงถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วมิได้ คดีนี้หากศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งแรกตามคำร้องโจทก์แล้ว ระยะเวลาอุทธรณ์จะครบกำหนดวันที่ 12 กุมภาพันธ์2542 มิใช่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองอีก 15 วัน ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 แสดงว่าโจทก์เข้าใจว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งแรกตามขอ เมื่อโจทก์ไม่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 โดยที่มิได้เป็นความผิดของโจทก์หากแต่เหตุเกิดจากความบกพร่องของศาลชั้นต้นเองที่ไม่ดำเนินการแจ้งคำสั่งศาลให้โจทก์ทราบ กรณีดังกล่าวจึงนับว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะเมื่อโจทก์ไม่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งแรกเพียงวันที่ 10กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ก็ย่อมไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองอีก 15 วัน โดยอ้างว่าโจทก์ยื่นคำร้องล่วงเลยระยะเวลาที่ขยายให้ครั้งแรกและกรณีมิใช่เหตุสุดวิสัย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์มีกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษา แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย

Share