คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยนำสินค้าพิพาทจากประเทศสิงคโปร์เข้ามา 2 ครั้งครั้งแรกแบบซีวีโอ700จำนวน150ชุดครั้งที่2แบบซีวีโอ500 จำนวน 204 ชุด โดยสั่งซื้อจากบริษัทช. และสำแดงราคาสินค้าพิพาทเพื่อคำนวณภาษีอากรเท่ากับที่ผู้นำเข้ารายอื่นนำเข้าทางท่าเรือกรุงเทพในระยะเวลานั้น การที่โจทก์นำราคาสินค้าชนิดเดียวกันซึ่งว.ผู้นำเข้าเพียงรายเดียวสั่งซื้อจากผู้ขายต่างรายกัน และนำเข้าในจำนวนน้อยกว่ามาก โดยนำเข้าแบบซีวีโอ 500 จำนวน 100 ชุดและแบบซีวีโอ 700 จำนวน เพียง 2 ชุด มาเปรียบเทียบกับราคาสินค้าของจำเลย โดยถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดแล้วเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มเติมจากจำเลยทั้ง ๆ ที่ระยะเวลานำเข้าก็ต่างกันเกือบ 1 ปี และต่างปีกัน จึงไม่ถูกต้องถือได้ว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยได้นำสินค้าเครื่องปรุงแต่งอาหารเข้ามาในราชอาณาจักร 2 ครั้ง ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าสินค้าได้ชำระภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล ต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองตรวจสอบพบว่าจำเลยสำแดงราคาต่ำกว่าราคาที่แท้จริง จึงได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบเพื่อชำระภาษีอากรเพิ่ม แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยชำระเงินภาษีอากรจำนวน 96,605.68 บาท แก่โจทก์ และชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าร้อยละ 1 ต่อเดือน จากต้นเงินอากรขาเข้าจำนวน35,710.19 บาท ชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ 1.5 ต่อเดือนจากต้นเงินภาษีการค้าจำนวน 33,390.11 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยชำระภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ10 ของภาษีการค้าในระยะเวลาเดียวกับภาษีการค้า จำเลยให้การว่าผู้ที่สั่งสินค้าเข้ามานั้นคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพฟิล์มดังนั้นหากมีการสำแดงราคาต่ำกว่าราคาที่แท้จริง จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ราคาสินค้าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงเทพฟิล์มสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้านั้น เป็นราคาที่ถูกต้องแท้จริง อาจจะมีราคาถูกกว่าผู้สั่งเข้ารายอื่นอยู่บ้าง ก็เพราะจำเลยมีเพื่อนซึ่งอยู่ต่างประเทศเป็นผู้ติดต่อซื้อสินค้าให้และสั่งซื้อมาในปริมาณมากพอสมควร สินค้าที่นำเข้านี้หากสำแดงราคาผิดพลาดไปก็ไม่เกินรายละ 10,000 บาท รวมจำนวนเงินภาษีอากรที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 96,605.68 บาทแก่โจทก์ และชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าร้อยละ 1 ต่อเดือน จากต้นเงินจำนวน 35,710.19 บาท ชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าร้อยละ 1.5ต่อเดือน จากต้นเงินจำนวน 33,390.11 บาท และชำระภาษีบำรุงเทศบาลในอัตราร้อยละ 10 จากต้นเงินจำนวน 33,390.11 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นนี้มีว่า ราคาสินค้าพิพาทที่จำเลยสำแดงต่อโจทก์ที่ 1 นั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ได้ความว่าจำเลยนำสินค้าพิพาทคือเครื่องอบอาหารด้วยไฟฟ้ายี่ห้ออิมมาเฟล็กจากประเทศสิงคโปร์เข้ามา 2 ครั้ง ครั้งแรกนำเข้ามาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2526 เป็นแบบซีวีโอ 700 จำนวน150 ชุด จำเลยสำแดงราคาชุดละ 64 เหรียญสิงคโปร์ ตามใบขนและใบส่งของเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ครั้งที่ 2 นำเข้าเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2526 เป็นแบบซีวีโอ 500 จำนวน 204 ชุด สำแดงราคาชุดละ 60 เหรียญสิงคโปร์ ตามใบขนและใบสั่งของเอกสารหมาย จ.8และ จ.9 โดยจำเลยซื้อสินค้าจากบริษัทเซียนหนานเทรดดิ้ง จำกัดทั้งสองครั้ง ส่วนราคาสินค้าที่โจทก์ทั้งสองนำมาเปรียบเทียบกับราคาสินค้าของจำเลยดังกล่าวโดยโจทก์ถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดแล้วเรียกเก็บภาษีอากรเพิ่มจากจำเลยตามราคาดังกล่าวนั้น คือราคาสินค้าชนิดเดียวกับที่นางวันชลี กรัยวิเชียร นำเข้ามาเมื่อวันที่27 พฤศจิกายน 2525 ตามสำเนาใบสั่งของและสำเนาใบขนเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 โดยนางวันชลีนำเข้าแบบซีวีโอ500 จำนวน 100 ชุด สำแดงราคาชุดละ 79 เหรียญสิงคโปร์และแบบซีวีโอ 700 จำนวน 2 ชุด สำแดงราคาชุดละ 105 เหรียญสิงคโปร์ซึ่งนางวันชลีสั่งซื้อจากฮอลลีวู๊ด การ์เมนต์ เมนูแฟคเจอร์เรอร์ตามหลักฐานดังกล่าวเห็นได้ว่าสินค้าแบบซีวีโอ 500 ที่จำเลยสำแดงราคาไว้ชุดละ 60 เหรียญสิงคโปร์ นั้นต่างกับราคาที่นางวันชลีสำแดงไว้ชุดละ 79 เหรียญสิงคโปร์ ไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะทั้งจำเลยและนางวันชลี ซื้อสินค้าแบบซีวีโอ 500 เข้ามาเป็นจำนวนมากที่จำเลยซื้อได้ถูกกว่านางวันชลีนั้นน่าจะเป็นเพราะจำเลยซื้อจำนวนมากกว่านางวันชลีคือจำเลยซื้อถึง 204 ชุด ขณะที่นางวันชลีซื้อเพียง 100 ชุด ส่วนแบบซีวีโอ 700 จำเลยสำแดงราคาไว้ชุดละเพียง 64 เหรียญสิงคโปร์ ต่ำกว่าราคาที่นางวันชลีสำแดงไว้ชุดละถึง 105 เหรียญสิงคโปร์มาก ที่เป็นดังนี้ก็น่าจะเป็นเพราะจำเลยสั่งเข้ามาถึง 150 ชุด แต่นางวันชลีนำเข้ามาเพียง 2 ชุด ที่จำเลยนำสืบว่า การซื้อจำนวนมากจะได้ราคาถูก ถ้าซื้อจำนวนน้อยราคาก็แพงเมื่อคิดราคาแต่ละชุดนั้นมีเหตุผล ดังนั้นที่โจทก์ทั้งสองนำราคาสินค้าที่นางวันชลีซื้อจำนวนน้อยเพียง 2 ชุด ไปเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่จำเลยซื้อถึง 150 ชุดนั้นน่าจะไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ทั้งสองนำสินค้าที่นางวันชลีนำเข้าเพียงรายเดียวมาเปรียบเทียบกับสินค้าที่จำเลยนำเข้า ทั้ง ๆ ที่เห็นได้ชัดว่านางวันชลีนำสินค้าเข้ามาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2525 ในขณะที่จำเลยนำสินค้าพิพาทเข้ามาเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2526 และ 17ตุลาคม 2526 ต่างเวลากันเกือบ 1 ปี และต่างปีกัน ราคาสินค้าย่อมแตกต่างกันนำมาเปรียบเทียบกันได้ยาก นอกจากนี้จำเลยกับนางวันชลีก็ซื้อจากผู้ขายต่างรายกัน วิธีการชำระเงินจะเหมือนกันเช่นซื้อเงินสดเหมือนกันหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ ได้ความจากนางสาวจรรยา โรจนดิลก พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประเมินอากร 4ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบราคาสินค้าพิพาทและพิกัดว่าพยานได้ตรวจสอบราคาสินค้าพิพาทที่จำเลยสำแดงก็ปรากฏว่าเท่ากับราคาสินค้าที่ผู้นำเข้ารายอื่นนำเข้ามาทางท่าเรือกรุงเทพ ในระยะเวลานั้นพยานจึงตรวจปล่อยสินค้าของจำเลยไปทั้งสองครั้ง ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักมากกว่าพยานโจทก์ ฟังได้ว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ส่วนที่จำเลยเบิกความรับว่าหลังจากพิพาทกันในคดีนี้แล้วจำเลยยอมเสียภาษีสำหรับสินค้าแบบซีวีโอ 700 โดยคำนวณจากราคาชุดละ 105เหรียญสิงคโปร์นั้น หาได้เป็นการยอมรับว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงในคดีนี้ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่เพราะเป็นเรื่องของราคาสินค้าต่างเวลากันและเป็นเรื่องที่จำเลยสมัครใจเสียภาษีเอง ซึ่งอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้”
พิพากษายืน

Share