คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1721/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าเสียหายที่โจทก์ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไม่ได้ราคาเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อ ไม่ใช่เงินที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระตาม ความหมายของ”ค้างเงินใด ๆ แก่เจ้าของ” ตาม สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยข้อที่ 9 ที่ว่า “ถ้า ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือค้างเงินใด ๆแก่เจ้าของ ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ย สำหรับเงินที่ค้างนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี…” ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ ดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ ดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เท่านั้น
สัญญาเช่าซื้อข้อ 10 ที่ว่า “…แต่ ถ้า เจ้าของได้ ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อ ไปแล้ว ยังไม่คุ้ม ราคาค่าเช่าซื้อที่ต้อง ชำระทั้งหมดตาม สัญญานี้กับค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ให้เจ้าของจนครบ” นั้น เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ขอมาสูงเกินไปศาลก็ชอบที่จะลดเบี้ยปรับลงได้ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๗๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๕,๕๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๔ ข้อ ๑๐ ระบุว่า “… แต่ถ้าเจ้าของได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้วยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญานี้กับค่าเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ให้เจ้าของจนครบ” นั้น เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าวในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่ารถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อไปเป็นรถใหม่ จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เลย แต่ที่โจทก์ขอค่าเสียหายในส่วนนี้มาจำนวน ๕๘,๐๐๐ บาท นั้น เห็นว่าศาลล่างทั้งสองได้กำหนดค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์อันควรได้จากรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อไปเป็นเงิน ๔,๕๐๐ บาท แล้วที่โจทก์ขอมาจึงสูงเกินไป จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหายในส่วนนี้แก่โจทก์อีก จำนวน ๕๓,๕๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดในจำนวนค่าเสียหายดังกล่าวด้วย ในปัญหาที่ว่าจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดนั้น ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๔ ข้อ ๙ ระบุว่า “ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระหนี้ หรือค้างเงินใด ๆ แก่เจ้าของ ผู้เช่าซื้ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ค้างนับแต่วันผิดนัด ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี … ” นั้นเห็นว่า ค่าเสียหายที่โจทก์ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไม่ได้ราคาเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อนั้นไม่ใช่เงินที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระตามความหมายของค้างเงินใด ๆ แก่เจ้าของตามสัญญาข้อ ๙ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๕ เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องในคำขอส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เพิ่มอีก ๕๓,๕๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๑,๐๐๐ บาท

Share