คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 172/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุเลิกจ้างที่ นายจ้าง อ้างว่าลูกจ้างลากิจ ลาป่วยเป็นจำนวนมากมิใช่เหตุจำเป็นนอกเหนือจากข้อยกเว้น 5 ประการ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานขาดสมรรถภาพในการทำงานเพราะลากิจ ลาป่วยหรือขาดงานบ่อย ๆ นายจ้างจะต้องหาวิธีการปรับปรุงแก้ไขด้วยหลักการบริหารงานบุคคลหรือตักเตือนให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน หาก่อให้เกิดสิทธิแก่นายจ้างที่จะเลิกจ้างลูกจ้างนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 (1) ถึง (5) ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ จำเลยที่ ๙ เป็นลูกจ้างประจำของโจทก์ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๓๒ โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ ๙ ฐานหย่อนสมรรถภาพและขาดความรับผิดชอบในการทำงาน เพราะลาป่วยและหยุดงานบ่อย โจทก์เคยเรียกจำเลยที่ ๙ มาตักเตือนด้วยวาจาหลายครั้ง และได้ออกคำเตือนเป็นหนังสือลงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๓๒ จำเลยที่ ๙ เพิกเฉย การกระทำของจำเลยที่ ๙ ส่อเจตนาในการขาดความรับผิดชอบและจงใจจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๙ ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าการเลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ มีคำสั่งที่ ๓๕/๒๕๓๒ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๒ ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน ๓๘,๕๐๐ บาทแก่จำเลยที่ ๙ คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบและไม่ระบุว่าจำเลยที่ ๙ เสียหายอย่างไร ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ศาลแรงงานมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ ๙
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๘ ให้การว่า โจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยที่ ๙ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ อ้างว่าจำเลยที่ ๙ ลากิจลาป่วยมาก การเลิกจ้างเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓คำสั่งดังกล่าวจึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์แถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๙เป็นกรรมการสหภาพแรงงานไทยซัมมิทโอโตพาร์ท โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๙ ขณะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับสหภาพแรงงานไทยซัมมิทโอโตพาร์ทใช้บังคับ จำเลยที่ ๙ ลากิจลาป่วยเป็นจำนวนมากตามที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้าง แต่การลาจำเลยที่ ๙ยื่นใบลาถูกต้องตามระเบียบและโจทก์อนุมัติใบลาทุกครั้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๙ ในขณะข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใช้บังคับอ้างเหตุว่าลากิจและลาป่วยมาก แต่การลาดังกล่าวได้รับอนุญาตจากโจทก์ทุกครั้ง โจทก์จึงเลิกจ้างโดยจำเลยที่ ๙ ไม่ได้กระทำผิด จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ค่าเสียหายที่กำหนดให้โจทก์จ่ายแก่จำเลยที่ ๙ เหมาะสมแล้วไม่มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งที่ ๓๕/๒๕๓๒ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เหตุเลิกจ้างที่โจทก์อ้างมิใช่เหตุจำเป็นนอกเหนือจากข้อยกเว้น ๕ ประการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ การที่จำเลยที่ ๙ ขาดสมรรถภาพในการทำงานเพราะลากิจลาป่วยหรือขาดงานบ่อยนั้น โจทก์ผู้เป็นนายจ้างจะต้องหาวิธีการปรับปรุงแก้ไขด้วยหลักการบริหารงานบุคคลหรือดำเนินการตักเตือนให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน หาก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเลิกจ้างลูกจ้างนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓(๑) ถึง (๕) ไม่
พิพากษายืน.

Share