คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17167/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถถือเป็นผู้หนึ่งที่เป็นเจ้าของรถตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 นอกจากนี้ผู้มีสิทธิครอบครองรถก็ถือว่าเป็นเจ้าของรถด้วยซึ่งหาได้จำกัดเฉพาะแต่ผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อเพียงอย่างดียวไม่ แต่ผู้เป็นเจ้าของรถที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยนั้นต้องเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ หากเป็นเจ้าของรถแต่ไม่ได้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 ที่จะต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย คดีนี้จำเลยขายรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุให้ พ. ตามสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขบังคับโดยมีข้อสัญญาว่ากรรมสิทธิ์ในรถจะโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อผ่อนชำระราคาครบถ้วน และจำเลยมอบรถให้ พ. ไปครอบครองเป็นผู้ใช้แล้ว พ. ย่อมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หาใช่จำเลยผู้ขายซึ่งมิได้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จำเลยมิใช่ผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย จึงไม่ต้องชำระเงินค่าเสียหายเบื้องต้นแก่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4, 7, 23, 26, 44
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 4, 7, 23, 26, 44 ปรับ 10,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทฮอนด้าสนามจันทร์ จำกัด จังหวัดนครปฐม ประกอบธุรกิจซื้อขายแลกเปลี่ยนรถจักรยานยนต์ทั้งเงินสดและเงินผ่อน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2546 นายพลอยซื้อรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน กมบ นครปฐม 709 ไปจากจำเลย ตามสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขบังคับ โดยมีข้อสัญญาว่ากรรมสิทธิ์ในรถจะโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว ระหว่างผ่อนชำระนายพลอยขับรถจักรยานยนต์คันที่ซื้อไปประสบอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานสามล้อโดยรถจักรยานยนต์มีนายพรชัย นั่งซ้อนท้ายไปด้วย เป็นเหตุให้นายพรชัยถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2547 นางเมตตา ภริยานายพรชัยยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต่อสำนักงานประกันภัยจังหวัดสุพรรณบุรี นายเผด็จ หัวหน้าสำนักงานประกันภัยจังหวัดสุพรรณบุรี ตรวจสอบแล้ว พบว่ารถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุที่นายพลอยขับมีจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และไม่มีข้อมูลการทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535นายเผด็จจึงมีหนงสือแจ้งให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้นางเมตตาเป็นเงิน 30,000 บาท แต่จำเลยไม่จ่าย ทางสำนักงานประกันภัยจังหวัดสุพรรณบุรี จึงขออนุมัติจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่นางเมตตา และต่อมามีกฎกระทรวงให้สิทธิแก่ผู้ประสบภัยที่เกิดจากการเสียชีวิตมีสิทธิได้รับค่าปลงศพซึ่งมีผลย้อนหลังไปถึงรายนายพรชัยด้วย สำนักงานประกันภัยจังหวัดสุพรรณบุรีจึงจ่ายค่าปลงศพให้นางเมตตาอีก 20,000 บาท แล้วมีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าปลงศพรวม 50,000 บาท กับเงินเพิ่มร้อยละ 20 อีก 10,000 บาท มาชำระแก่สำนักงานประกันภัยจังหวัดสุพรรณบุรี จำเลยได้รับหนังสือแล้ว ปฏิเสธที่จะชำระโดยอ้างว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ นายเผด็จเห็นว่าตนในฐานะนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยตามมาตรา 26 และ 44 ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงิน 60,000 บาท มาชำระคืนกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยและชำระค่าปรับแต่จำเลยเพิกเฉย สำนักงานประกันภัยจังหวัดสุพรรณบุรีจึงแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ เรื่องนำค่าเสียหายเบื้องต้นพร้อมเงินเพิ่มมาชำระ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า จำเลยซึ่งยังมีกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์คันที่นายพลอยซื้อไป มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ หรือไม่ เห็นว่า ผู้ที่มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ มีบัญญัติไว้ในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า “…เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย…” โดยมีมาตรา 4 ให้คำจำกัดความของคำว่า “เจ้าของรถ” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อ…” แสดงว่า ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถก็ถือเป็นผู้หนึ่งที่เป็นเจ้าของรถตามความหมายของมาตรา 4 แต่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถจะมีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามมาตรา 7 หรือไม่ ต้องพิจารณาต่อไปว่าผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถนั้นเป็นผู้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้หรือไม่ หากมีเพียงกรรมสิทธิ์ในรถแต่มิได้เป็นผู้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของมาตรา 7 ผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถนั้นก็ไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามมาตราดังกล่าว นอกจากผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถแล้ว ผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อก็ถือเป็นเจ้าของรถตามมาตรา 4 ด้วยประการหนึ่ง ปัญหามีว่า ผู้มีสิทธิครอบครองรถที่ถือว่าเป็นเจ้าของรถนั้นจำกัดเฉพาะแต่ผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้นหรือไม่ เห็นว่า จากถ้อยคำตามมาตรา 7 เจ้าของรถที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยนั้นต้องเป็นเจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ หากเป็นเจ้าของรถแต่ไม่ได้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 ที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยการใช้รถหรือการมีรถไว้เพื่อใช้จึงเป็นสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของรถซึ่งรวมถึงผู้มีสิทธิครอบครองรถด้วย หากเป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถแต่ไม่ได้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ ก็ย่อมไม่อยู่ในข้อบังคับแห่งมาตรา 7 ที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย แสดงว่าการใช้รถหรือการมีรถไว้เพื่อใช้สำคัญกว่าชนิดของสัญญาที่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในรถนั้น ผู้มีสิทธิครอบครองในรถที่ถือเป็นเจ้าของรถตามความในมาตรา 4 และต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยตามมาตรา 7 จึงหาได้จำกัดเฉพาะแต่ผู้มีสิทธิครอบครองรถตามสัญญาเช่าซื้อเพียงอย่างเดียวไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ขายรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุให้นายพลอยและมอบรถให้นายพลอยไปครอบครองเป็นผู้ใช้แล้ว นายพลอยย่อมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองรถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ตามความในมาตรา 7 ที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หาใช่จำเลยผู้ขายซึ่งมิได้ใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า จำเลยมิใช่ผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย จึงไม่ต้องชำระเงินค่าเสียหายเบื้องต้นแก่กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยและไม่มีความผิดตามฟ้องโดยเห็นว่าสัญญาที่นายพลอยทำกับจำเลยเป็นสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไข ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share