คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1716/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นขอแก้ไขคำให้การ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหลังจากมีคำสั่งแล้วโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา226 ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยอีก ผู้กู้อนุญาตให้ผู้ให้กู้อยู่อาศัยในบ้านพิพาทและทำสัญญามอบโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ถ้าผู้กู้ผิดนัดผู้ให้กู้มีสิทธินำโฉนดไปจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ตามใบมอบอำนาจที่ให้ไว้ด้วยแม้ผู้ให้กู้จะไม่มีสิทธิยึดหน่วงดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 เพราะหนี้เงินกู้ไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์พิพาทแต่เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ระบุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทไว้เป็นประกันจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้เป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้ ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับผู้ให้กู้มีสิทธิยึดถือทรัพย์ที่นำมาประกันไว้และอยู่ในบ้านพิพาทจนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านของบิดาโจทก์ ต่อมาบิดาโจทก์ถึงแก่ความตายโจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดก ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ต่อไปจึงแจ้งให้จำเลยออกไปจำเลยไม่ยอมออก ขอให้พิพากษาบังคับ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การรว่า จำเลยอยู่ในบ้านพิพาทในฐานะหัวหน้าครอบครัวนายเฉิดบิดาโจทก์กู้เงินจำเลยโดยทำสัญญากู้และมอบโฉนดที่ดินพร้อมบ้านพิพาทที่ตั้งอยู่ให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน ครบกำหนดชำระหนี้แล้ว นายเฉิดถึงแก่กรรมโดยยังไม่ได้ชำระหนี้ จำเลยจึงยึดหน่วงที่ดินและบ้านพิพาทไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้จำเลยกับนายเฉิดเป็นสามีภริยากัน แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ออกเงินร่วมกันซื้อที่ดินและบ้านพิพาท จึงเป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากบ้านพิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่าการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การชอบหรือไม่ จำเลยให้การต่อสู้ในประเด็นสำคัญว่า บิดาโจทก์ยืมเงินจำเลยมีหลักฐานเป็นหนังสือ และได้นำบ้านและที่ดินพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันหนี้รายนี้ ในวันนี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นในข้อ 3 ว่า “จำเลยครอบครองบ้านพิพาทโดยมีสิทธิยึดหน่วงหรือไม่” ต่อมาจำเลยขอแก้ไขคำให้การเพิ่มข้อต่อสู้เข้ามาอีกข้อหนึ่งว่า “จำเลยได้ออกเงินซื้อที่ดินและบ้านพิพาทร่วมกับนายเฉิด สายันตนะ จึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์พิพาท โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย” เห็นว่าจำเลยยื่นขอแก้ไขคำให้การเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2525ศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งสำเนาให้โจทก์ และเพิ่งมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2526 ซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หลังจากมีคำสั่งแล้ว โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นไว้ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ทั้งไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลอุทธรณ์ยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ข้อความที่ขอแก้ไขก็รวมอยู่ในประเด็นข้อ 3 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่าจำเลยครอบครองบ้านพิพาทโดยมีสิทธยึดหน่วงหรือไม่ จึงต้องถือว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยอีก
ปัญหาต่อไปที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยมีสิทธิยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทไว้เพียงใดหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะไม่มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์พิพาทดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 เพราะหนี้เงินกู้ดังกล่าวไม่เกี่ยวกับตัวทรัพย์พิพาท แต่เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.3 ข้อ 2 ข้อ 3 ระบุให้จำเลยมีสิทธิยึดทรัพย์พิพาทไว้เป็นประกันได้จนกว่านายเฉิดผู้กู้จะชำระหนี้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว เป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำกันไว้เอง ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมมีผลบังคับ และผู้ให้กู้มีสิทธิยึดถือทรัพย์ที่นำมาประกันไว้ได้จนกว่าผู้กู้จะปฏิบัติตามสัญญาคือชำระหนี้ก่อน ซึ่งเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามข้อสัญญา ไม่ใช่สิทธิที่เกิดจากผลแห่งกฎหมายตามมาตรา 241 ที่อ้างถึง โจทก์ผู้เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้ามรดก จำเลยจึงมีสิทธอันชอบธรรมที่จะอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทจนกว่าโจทก์จะชำระหนี้ตามข้อตกลงในเอกสารหมาย ล.3 ฉะนั้นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share