คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1711/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ซื้อเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัดร.โดยให้ว.นำไปขายผ่อนส่งเพื่อแบ่งกำไรกัน เมื่อ ว.รับเครื่องไฟฟ้าทั้งหมดไปแล้ว ว.มิได้นำไปขายผ่อนส่ง แต่กลับนำไปจำนำและไม่นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์และจำเลย โจทก์ต้องชำระค่าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ส่วนว. ได้หลบหนีไปไม่สามารถติดตามเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ถือได้ว่ามีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำเนินต่อไปได้อีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057(3) ต้องเลิกกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนไม่มีเจ้าหนี้ก็ไม่มี คงเหลือ ว. เป็นลูกหนี้ แต่ไม่สามารถที่จะติดตามเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้เพราะหลบหนี ส่วนที่ขาดทุนทั้งหมดก็คือเงินทดรองค่าซื้อเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่โจทก์ได้ชำระแก่ห้างร. ไปเพื่อจัดการค้าของห้าง การที่จะให้ดำเนินการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนเสียก่อนย่อมไม่เป็นประโยชน์เพราะคงไม่ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นจากที่โจทก์จำเลยนำสืบไว้แล้ว ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยรับผิดชดใช้ส่วนขาดทุนให้แก่โจทก์ไปทีเดียวได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 25,332.50 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 23 มกราคม 2527 จนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ซื้อเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าตามฟ้องไปขายผ่อนส่งเพื่อแบ่งปันกำไรกันหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยรับราชการอยู่ที่กรมสรรพากรแผนกเดียวกันก่อนที่จะเกิดมูลคดีนี้เป็นเวลานานประมาณ 6 ปี โดยโจทก์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายจัดซื้อและจัดจ้าง ส่วนจำเลยดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีด โจทก์เบิกความว่า เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2526 จำเลยหารือโจทก์ว่าอยากจะลงทุนโดยซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าไปขายผ่อนให้บุคคลภายนอก แต่จำเลยไม่รู้จักร้านค้าที่จะซื้อเชื่อเครื่องไฟฟ้าได้ให้โจทก์ช่วยแนะนำเกี่ยวกับร้านค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วจำเลยจะดำเนินการเอง โจทก์คิดว่าถ้าให้จำเลยดำเนินการเองโดยลำพังทางร้านจะไม่เชื่อถือ โจทก์กับจำเลยจึงตกลงเข้าหุ้นส่วนโดยลงเงินคนละ 5,000 บาท เป็นทุนดำเนินการ ส่วนจำเลยเบิกความว่าโจทก์ชักชวนจำเลยให้ร่วมค้าขาย โดยโจทก์บอกว่าสามารถซื้อเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าจากร้านไปจำหน่ายได้ จำเลยเห็นว่าจำเลยรู้จักคนน้อยจึงแนะนำให้โจทก์ร่วมค้าขายกับนางวิชุฎาน้องสาวจำเลยเพราะนางวิชุฎารู้จักคนมากและทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล จำเลยให้นางวิชุฎาติดต่อกับโจทก์ และตกลงเรื่องหลักการกันเอง ต่อมาจำเลยทราบว่า โจทก์กับนางวิชุฎาค้าขายกัน เห็นว่า โจทก์จำเลยทำงานอยู่แผนกเดียวกันมาเป็นเวลานานถึงประมาณ 6 ปี โจทก์ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อและจัดจ้างรู้จักพ่อค้าหลายคน ซึ่งจำเลยย่อมทราบดี การนำเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดที่ซื้อเชื่อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเจริญบริพัตรไปจำหน่ายนี้ ก็ได้ความว่านางวิชุฎาน้องสาวจำเลยเป็นผู้รับไปทั้งหมดแต่ผู้เดียว รูปคดีน่าเชื่อตามคำของโจทก์ว่า จำเลยเป็นฝ่ายหารือกับโจทก์ก่อน โดยจำเลยกับนางวิชุฎาได้พูดจาตกลงกันมาแล้ว เพราะไม่มีเหตุผลอันใดที่โจทก์จะเป็นฝ่ายชักชวนจำเลยให้ร่วมกันทำการค้าขายด้วย โดยที่จำเลยไม่เคยแสดงท่าทีว่าอยากจะทำการค้าขายมาก่อนและการที่โจทก์เสนอให้จำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์นั้นก็มีเหตุผล โดยประการแรกถ้าโจทก์เพียงแต่แนะนำร้านค้าที่จะซื้อเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าให้จำเลยไปดำเนินการเอง ทางร้านค้าย่อมไม่เชื่อถือ แต่หากโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยและติดต่อกับห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเจริญบริพัตรซึ่งโจทก์สนิทสนมกับนายจรัส อัศวนิเวศน์ หุ้นส่วนผู้จัดการ ก็ย่อมดำเนินการที่จะขอซื้อเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าได้โดยสะดวกประการที่สองผู้ที่จะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าไปขายผ่อนส่งก็คือนางวิชุฎาน้องสาวจำเลยแต่ผู้เดียว ซึ่งจำเลยจะติดต่อและเก็บเงินจากนางวิชุฎาได้โดยสะดวกเช่นกัน ทั้งโจทก์ยังมีนายจรัสอัศวนิเวศน์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเจริญบริพัตร มาเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์กับจำเลยไปที่ห้างฯ ขอซื้อเชื่อสินค้าไปขายผ่อนส่ง และตกลงให้นางวิชุฎาเป็นผู้รับสินค้าไป นอกจากนี้โจทก์ยังมีบัญชีเงินสดตามเอกสารหมายจ.8 ซึ่งจำเลยเบิกความรับว่าจำเลยเป็นผู้ทำขึ้นเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคม 2526 ในบัญชีดังกล่าวลงรายการไว้ว่า”ทุน ธ. 5,000” และ “ทุน ป. 5,000″ ซึ่ง ธ. และ ป. นี้เป็นอักษรย่อของชื่อโจทก์และจำเลย ที่จำเลยเบิกความว่า จำเลยไม่ได้ร่วมลงทุนกับโจทก์ เพราะคิดดูแล้วจะต้องลงทุนเป็นจำนวนมาก ไม่มีเงินเพียงพอตามที่เขียนด้วยดินสอดำในเอกสารหมาย จ.8 จำเลยคิดดูแล้วไม่มีเงินเพียงพอจะลงทุนจึงบอกปฏิเสธโจทก์ไปนั้น ไม่มีเหตุผลที่จะให้รับฟัง เพราะขัดกับคำเบิกความของจำเลยเองที่ว่าเมื่อโจทก์ชวนจำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนจำเลยปฏิเสธไปตั้งแต่แรก แต่บัญชีเงินสดตามเอกสารหมาย จ.8 นี้ ทำขึ้นภายหลังจากที่นางวิชุฎารับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดไปจำหน่ายแล้ว และการที่โจทก์กับจำเลยตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกันนี้ก็ยังไม่ต้องใช้เงินลงทุนในการดำเนินกิจการแต่อย่างใด เพียงแต่กำหนดจำนวนเงินที่จะนำมาลงหุ้นกันไว้เท่านั้น ดังนั้น หากจำเลยไม่ได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยจะเขียนไว้ในบัญชีเช่นนั้น เมื่อประมวลเหตุผลทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วเชื่อได้ว่าจำเลยได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ซื้อเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าตามฟ้องให้นางวิชุฎานำไปขายผ่อนส่ง เพื่อแบ่งปันกำไรกันระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยกำหนดจำนวนเงินที่จะนำมาลงหุ้นกันไว้คนละ 5,000บาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยมิได้โต้เถียงกันฟังได้ต่อไปว่า เมื่อนางวิชุฎารับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดไปแล้ว นางวิชุฎามิได้นำไปขายผ่อนส่งแต่กลับนำไปจำนำ และไม่นำเงินมาชำระให้แก่โจทก์และจำเลย โจทก์ต้องชำระค่าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเจริญบริพัตรไปเป็นเงิน 50,665 บาท เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 ส่วนนางวิชุฎาได้หลบหนีไปไม่สามารถติดตามเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยผู้เป็นหุ้นส่วนให้รับผิดในส่วนขาดทุนครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 25,332.50 บาทโดยยังไม่มีการเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญ จึงมีปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญด้วยแต่ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้กล่าวว่า การดำเนินกิจการของห้างฯได้มอบหมายให้นางวิชุฎา พานิชการ น้องสาวจำเลยรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่โจทก์กับจำเลยซื้อเชื่อมานำไปขายผ่อนส่งให้แก่บุคคลภายนอกต่อมาโจทก์ทราบว่านางวิชุฎาไม่ได้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวไปขายผ่อนส่ง แต่กลับนำไปจำนำไว้ ณ โรงรับจำนำหลายแห่ง และไม่นำเงินค่าผ่อนส่งมามอบให้แก่โจทก์จำเลย โจทก์ต้องชำระค่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อเชื่อมาให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเจริญบริพัตรไปทั้งหมด จึงขอให้บังคับจำเลยรับผิดในส่วนขาดทุนครึ่งหนึ่งพร้อมด้วยดอกเบี้ย แสดงให้เห็นความประสงค์ของโจทก์ได้ว่าต้องการให้ศาลสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ จึงได้ขอให้บังคับจำเลยรับผิดในส่วนขาดทุน ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการประกอบกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญนี้ โจทก์จำเลยตกลงกันให้นางวิชุฎาแต่เพียงผู้เดียวนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่โจทก์จำเลยร่วมกันซื้อเชื่อมาไปขายผ่อนส่งให้แก่บุคคลภายนอก นางวิชุฎารับเครื่องใช้ไฟฟ้าไปแล้วกลับนำไปจำนำ ไม่นำเงินค่าผ่อนส่งมามอบให้แก่โจทก์จำเลย และหลบหนีไป ถือได้ว่ามีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057(3) เพราะไม่มีตัวบุคคลที่จะช่วยให้การประกอบกิจการของห้างหุ้นส่วนดำเนินต่อไปได้อีกแล้วศาลจึงสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนี้เลิกกันเสียได้ แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้ว จะต้องมีการชำระบัญชีก่อน จึงมีข้อควรพิเคราะห์ว่า การที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดในส่วนขาดทุนโดยมิได้ขอให้ชำระบัญชีเสียก่อนเช่นนี้ ศาลจะบังคับไปทีเดียวได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนไม่มี เจ้าหนี้ก็ไม่มี คงเหลือนางวิชุฎาเป็นลูกหนี้แต่ก็ไม่สามารถที่จะติดตามเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้เพราะหลบหนีไปแล้ว ส่วนที่ขาดทุนทั้งหมดก็คือเงินทดรองค่าซื้อเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่โจทก์ได้ชำระแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรุ่งเจริญบริพัตรไปเพื่อจัดการค้าของห้าง การที่จะให้ไปดำเนินการชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนเสียก่อนย่อมไม่เป็นประโยชน์เพราะคงไม่ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นจากที่โจทก์จำเลยนำสืบไว้แล้วอีกแต่ประการใด ศาลย่อมพิพากษาไปทีเดียวได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชดใช้ส่วนขาดทุนให้แก่โจทก์ จึงชอบแล้ว”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท

Share