คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1708/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในคำฟ้องปรากฏข้อความว่าจำเลยตกลงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายให้โจทก์ในวันที่ 11กุมภาพันธ์ 2528 ส่วนหนังสือสัญญาจะซื้อขายก็ปรากฏข้อความว่าจำเลยจะทำการโอนกรรมสิทธิ์กันในปี 2528 แสดงว่าจำเลยต้องจดทะเบียนโอนภายในวันที่ 31 ธันวาคม2528 เป็นอย่างช้าที่สุด ดังนั้น เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ดำเนินการทางทะเบียนให้แก่โจทก์ภายในเวลาดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 31 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไปและสิทธิเรียกร้องของโจทก์มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีอย่างช้าภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 1 กรกฎาคม2542 เกินกว่ากำหนด 10 ปี จึงขาดอายุความ ตามมาตรา 193/9

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2528 จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 366 ให้แก่โจทก์ในราคา 40,000 บาท โดยตกลงจะจดทะเบียนโอนในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2528 และโจทก์ชำระราคาให้แก่จำเลยทั้งสองครบถ้วนแล้วแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3)เลขที่ 366 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ให้แก่โจทก์หากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่ากำหนด 10 ปีฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ในประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสอง ยกคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสอง แล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยทั้งสองตกลงจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ 1 แปลง และได้ทำสัญญาไว้ต่อกัน ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 แต่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญา จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองปฏิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายดังกล่าว ขณะเดียวกันจำเลยทั้งสองก็ได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ฉะนั้นประเด็นพิพาทข้อหนึ่งจึงมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ซึ่งประเด็นพิพาทข้อนี้ศาลชอบที่จะวินิจฉัยได้จากคำฟ้องประกอบหนังสือสัญญาจะซื้อขายท้ายฟ้องที่โจทก์อ้างเป็นมูลเหตุแห่งคดีนี้นั่นเอง โดยไม่จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐานใด ๆ ทั้งนี้ เพราะในคำฟ้องปรากฏข้อความชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองตกลงจะจดทะเบียนโอนในวันที่ 11กุมภาพันธ์ 2528 ส่วนหนังสือสัญญาดังกล่าวก็ปรากฏข้อความว่าจำเลยทั้งสองจะทำการโอนกรรมสิทธิ์กันให้ถูกต้องตามกฎหมายในปี 2528 อันเป็นการแสดงว่าจำเลยทั้งสองต้องจดทะเบียนโอนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2528 เป็นอย่างช้าที่สุด ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ดำเนินการทางทะเบียนให้แก่โจทก์ภายในเวลาดังกล่าว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันถัดจากวันที่ 31 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไปเมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในคดีนี้มิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องอยู่ในกำหนดอายุความ 10 ปี ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 บัญญัติไว้ โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีอย่างช้าภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2538 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เกินกว่ากำหนด10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องทำการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองต่อไปและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share