คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1705/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ขอยืมที่ดินของโจทก์เพื่อนำไปจำนองเป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 กู้จากธนาคาร โจทก์จึงแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ส่วนหนึ่งแล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโดยตกลงกันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ธนาคารหมดแล้วจะคืนที่ดินให้โจทก์เป็นการแสดงเจตนาลวง ที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่จำเลยตกอยู่ในความผูกพันที่จะต้องโอนที่ดินคืนให้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเอาที่ดินไปขายให้ผู้อื่น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดย ทราบถึงการแสดงเจตนาลวงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้

ย่อยาว

โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๔๒๖๕ ตำบลบางขุนศรี อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรีเมื่อราวกลาง พ.ศ. ๒๔๙๙ จำเลยที่ ๑ เดือดร้อนเรื่องเงิน ขอให้โจทก์ช่วยเหลือโดยขอยืมโฉนดที่ดินดังกล่าว ๒๐๐ ตารางวา เพื่อนำไปจำนองเป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยที่ ๑ จะกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยในวงเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ต้องโอนใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ ในโฉนดก่อนโจทก์ตกลง จึงทำเป็นโอนขายที่ดิน ๒๐๐ ตารางวา ให้จำเลยที่ ๑ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท โดยใส่ชื่อจำเลยที่ ๑ ร่วมกับโจทก์ ความจริงโจทก์ไม่ได้รับเงินค่าที่ดินแล้วจำเลยที่ ๑ นำไปจำนองไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ๕๐,๐๐๐ บาท โดยแบ่งให้โจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ เอาไว้ ๒๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาไว้ว่าจะโอนคืนที่ดินให้โจทก์เมื่อผ่อนชำระเงินให้ธนาคารแล้ว โจทก์จะคืนเงิน๓๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง หมาย ๑โดยจำเลยที่ ๒, ๓ รู้เห็นเป็นพยานในสัญญา
ต่อมาธนาคารมีความประสงค์จะยึดถือโฉนด โจทก์กับจำเลยจึงแบ่งที่ดินออกเป็น ๒ แปลง ๆ ที่โจทก์ให้จำเลยที่ ๑ เป็นโฉนดที่ ๔๙๕๑ เมื่อต้นปีนี้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารหมดแล้ว จำเลยที่ ๑กลับมีเจตนาไม่สุจริต สมคบกับจำเลยที่ ๒, ๓ โอนที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ ๒, ๓ จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามส่งโฉนดที่ดินพิพาทที่ ๔๙๕๑ ต่อพนักงานที่ดินจังหวัดธนบุรี แล้วโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๒, ๓ ให้โจทก์ และรับเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทไปจากโจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินของโจทก์ ๒๐๐ ตารางวา ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท เมื่อจำเลยชำระเงินกู้ให้ธนาคารแล้ว จำเลยบอกขายที่ดินให้โจทก์และบุคคลอื่น ไม่มีใครซื้อ จึงขายให้จำเลยที่ ๒, ๓ โดยสุจริต และมีค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน
จำเลยที่ ๒, ๓ ให้การว่า ได้ซื้อที่พิพาทไว้โดยสุจริต เปิดเผยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว
จำเลยทั้งสามยังได้ให้การปฏิเสธด้วยว่า เอกสารหมาย ๑ท้ายฟ้องไม่มี เป็นเอกสารปลอม แม้จะฟังว่าเป็นเอกสารที่จำเลยที่ ๑ทำขึ้น เป็นคำมั่นก็หาผูกพันจำเลยที่ ๒, ๓ ไม่ เพราะโจทก์ใช้สิทธิจะซื้อที่ดินพิพาทเกินกำหนด ๖ ปี นับแต่วันทำเอกสาร จำเลยที่ ๑บอกเลิกและปฏิเสธคำมั่นแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์เป็นหญิงมีสามีไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์สำนวนที่สองฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๔๙๕๑ โดยซื้อจากนายสมาน กองทอง เมื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันแล้วจึงทราบว่าจำเลยและบริวารอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ ๔๕๕/๒ ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายออกไปจากบ้านและที่ดินพิพาทและชำระค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า บ้านเลขที่ ๔๕๕/๒ เป็นกรรมสิทธิ์ของนางพิกุล สุวรรณชาติ ซึ่งมีสิทธิจะอยู่ในที่ดินแปลงนี้ได้ ตามสัญญาซึ่งนางพิกุลทำไว้กับนายสมาน โจทก์ทราบดีอยู่แล้วจึงต้องรับสิทธิต่าง ๆ ตามสัญญาด้วย ทั้งจำเลยเป็นผู้เฝ้าบ้านและที่ดินพิพาทไม่มีสิทธิรื้อบ้านพิพาทได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีทั้ง ๒ สำนวนนี้รวมกัน ให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกและจำเลยในสำนวนที่สองว่าโจทก์และเรียกจำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังว่าจำเลยและพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒, ๓ และให้โอนใส่ชื่อนางพิกุลโจทก์ในโฉนดที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ ๑ รับเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทจากโจทก์ ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้ยกฟ้องสำนวนที่สอง
จำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนที่สองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนที่สองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ มิใช่ผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์จริง ๆ การโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้กระทำขึ้นโดยเจตนาลวง เพื่อให้จำเลยที่ ๑ ยืมที่ดินพิพาทไปจำนองธนาคารเท่านั้น ไม่มีความประสงค์ให้ผูกพันกัน จึงใช้บังคับระหว่างกันไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ ที่ดินพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่จำเลยที่ ๑ ตกอยู่ในความผูกพันที่จะต้องโอนที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ ไม่มีสิทธิที่จะเอาที่ดินพิพาทไปขายให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓
ส่วนจำเลยที่ ๒ ได้ลงชื่อเป็นพยานในเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งระบุไว้ว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องโอนที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเพียงพอที่ถือว่าจำเลยที่ ๒ ทราบการแสดงเจตนาลวงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๓ เป็นภรรยาของจำเลยที่ ๒ ย่อมทราบการแสดงเจตนาลวงนั้นด้วย การที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ ๑ เป็นการรับโอนโดยไม่สุจริตโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จ่าสิบเอกทวีซึ่งอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิโจทก์
พิพากษายืน

Share