แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 2 คราวติดต่อกัน โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างก็ไม่ได้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามข้อสัญญาโดยยังคงถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความผูกพันต่อกันตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป การที่ต่อมาจำเลยที่ 1 นำรถที่เช่าซื้อไปคืนให้แก่โจทก์ จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ตามข้อสัญญาและตามมาตรา 573 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันตามมาตรา 573นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ มิใช่กรณีสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย หรือประพฤติผิดสัญญาอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ตามข้อสัญญา เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามมาตรา 573 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 3 งวด ก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันดังกล่าว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกนั้นได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3ได้ด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถแทรกเตอร์จากโจทก์ 1 คันราคา 2,935,700 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 500,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละ 81,190 บาท จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจึงได้ส่งมอบรถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1จึงเลิกกันตามข้อสัญญา จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างอีก 243,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 17,930 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 261,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 243,570 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยค้างชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจากจำเลยทั้งสามหลังจากที่ได้รับมอบทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อคืนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 243,570 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 162,380บาท นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2527 และในต้นเงิน 81,190 บาทนับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2527 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องไม่เกิน 17,930 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์เรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกได้เพียงใดหรือไม่ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 7 ที่ 8 และที่ 10 งวดละ 81,190 บาท ซึ่งถึงกำหนดชำระในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2526 วันที่ 16 ธันวาคม 2526และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2527 ตามลำดับ ให้แก่โจทก์อยู่ก่อนที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 นำรถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อไปคืนให้โจทก์ที่สำนักงานสาขาหาดใหญ่ ของโจทก์ในเดือนมีนาคม 2527 และศาลฎีกาได้พิเคราะห์หนังสือสัญญาเช่าซื้อซึ่งเป็นสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ประกอบแล้ว ปรากฏว่า สัญญาดังกล่าวข้อ 12. ระบุว่า”ผู้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาเช่าซื้อนี้ในขณะใด ๆ ก็ได้ แต่ต้องนำทรัพย์สินที่เช่าซื้อส่งคืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ ณ สำนักงานธุรกิจหรือโกดังสินค้าของผู้ให้เช่าซื้อในสภาพที่สมบูรณ์ใช้การได้ โดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อเองทั้งสิ้น…” ข้อ 13. ระบุว่า “หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ 2 คราวติดกันถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าซื้อได้ครอบครองทรัพย์สินที่เช่าซื้อได้ทันที…” และข้อ 14. ระบุว่า”ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย หรือผู้เช่าซื้อประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดสัญญานี้เป็นอันยกเลิกเพิกถอนไปทันที ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ค้างชำระ… ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ…”แต่ที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 7 และที่ 8 รวม2 คราวติดต่อกันดังกล่าวข้างต้นนั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายวัฒนชัยพยานโจทก์ว่า โจทก์ไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน โดยยังให้โอกาสจำเลยที่ 1 นำเงินค่าเช่าซื้อมาชำระต่อไปและต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 ได้ พฤติการณ์ดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 2 คราวติดต่อกันดังกล่าว โจทก์และจำเลยที่ 1ต่างก็ไม่ได้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันตามสัญญาข้อ 13.แล้วแต่อย่างใด โดยยังคงถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความผูกพันต่อกันตามสัญญาเช่าซื้อนั้นต่อไป การที่ต่อมาจำเลยที่ 1 นำรถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อไปคืนให้แก่โจทก์ในเดือนมีนาคม 2527 นั้นจึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 12. และตามบทบัญญัติ มาตรา 573 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ดังกล่าว การที่สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน โดยจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการนำรถแทรกเตอร์ที่เช่าซื้อไปคืนให้แก่โจทก์เช่นนี้ มิใช่กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันเพราะจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายหรือประพฤติผิดสัญญาอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาข้อ 14. และเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาตามสัญญาและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 เช่นนี้แล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายก็ต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์รวม 3 งวดอยู่ก่อนสัญญาเช่าซื้อเลิกกันดังกล่าว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนสัญญาเลิกนั้นได้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องแล้ว แม้จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อของจำเลยที่ 1โดยยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์