คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์ที่จำเลยใช้บรรทุกไม้สักยังมิได้แปรรูป ไม่มีตราค่าภาคหลวงหรือรอยตราของรัฐบาลประทับ (อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 – มาตรา 69) ซึ่งจะต้องถูกริบตามมาตรา 74 และพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18 นั้น เมื่อปรากฏว่ารถยนต์นั้นจำเลยเช่าซื้อมาจากผู้ร้องชำระเงินยังไม่ครบ กรรมสิทธิ์จึงยังเป็นของผู้ร้องอยู่ การริบทรัพย์เป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องมิได้มีส่วนกระทำหรือรู้เห็นด้วย ก็ต้องคืนรถยนต์ให้แก่ผู้ร้องไป เพราะพระราชบัญญัติป่าไม้ไม่มุ่งหมายที่จะลงโทษบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกันมีไม้สัก ๔.๙๖ เมตรลูกบาศก์ ยังมิได้แปรรูป ไม่มีตราค่าภาคหลวงหรือรอยตราของรัฐบาลประทับไว้ในครอบครองโดยจำเลยใช้รถยนต์ น.ว.๐๑๐๒๗ บรรทุกมาตามถนนพหลโยธินจากจังหวัดกำแพงเพชร ไปจังหวัดพระนครไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๙, ๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๕, ๑๒, ๑๘ ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑๔ รับสารภาพ จำเลยที่ ๒,๓ ปฏิเสธ
ในระหว่างพิจารณาบริษัท โตโยต้ามอเตอร์เซลส์จำกัดประเทศไทยยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อรถยนต์ของกลางของผู้ร้องมาก ชำระราคายังไม่ครบ รถยนต์ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการกระทำใด ๆ ของจำเลยขอให้ปล่อยรถยนต์จากการยึด
โจทก์คัดค้านว่า รถยนต์ของกลางได้ใช้ในการกระทำผิดขอให้ริบ
ศาลจังหวัดนครสวรรค์พิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษไม้สักของกลางริบ ส่วนรถยนต์ของกลางเห็นว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดไม่ใช่ทรัพย์อันควรริบ คืนผู้ร้องไป
โจทก์อุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาขอให้ริบรถยนต์
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗๔ บัญญัติว่า บรรดาไม้หรือของป่าอันได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ให้ริบเสียทั้งสิ้น
ทวิ.บรรดาเครื่องมือเครื่องใช้สัตว์พาพนะ ยานพะหนะ หรือเครื่อง จักรวลใด ๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำผิดตามมาตรา ๑๑ มาตรา ๔๘ มาตรา ๕๔ หรือมาตรา ๖๙ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ในการกระทำผิดของจำเลยอื่น หากไม่ยอมคืนให้ผู้ร้องโดยถือว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกริบตามกฎหมาย ก็เท่ากับลงโทษทางอาญา แก่ผู้ร้องโดยที่ผู้ร้องมิได้มีส่วนกระทำผิดหรือรู้เห็นด้วย ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ ไม่มุ่งหมายที่จะลงโทษบุคคลอื่นซึ่งเขามิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share