คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์มีผลเด็ดขาดตามกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิกเพิกถอนพระบรมราชโองการนั้นย่อมยังมีผลอยู่ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 681/2481)
พินัยกรรมซึ่งเจ้ามรดกทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2460 และมีพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์สลักหลังท้ายพินัยกรรมให้เป็นอันใช้ได้เหมือนพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการ ห้ามมิให้ผู้พิพากษารับฟ้องพิพากษาความอันเกี่ยวข้องด้วยทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกให้ผิดจากพินัยกรรมดังนี้ พินัยกรรมนั้นย่อมมีผลตามกฎหมายที่ยังใช้บังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นอยู่ได้ตลอดมา ศาลจะพิพากษาความอันเกี่ยวข้องด้วยทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกให้ผิดจากพินัยกรรมเป็นการขัดพระบรมราชโองการหาได้ไม่
พินัยกรรมซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชโองการดังกล่าวแล้วกำหนดให้ที่ดินที่ระบุของเจ้ามรดกคงเป็นสมบัติของเจ้ามรดกอยู่เสมอไปและให้มีผู้ดูแลรักษาที่ดินนั้นไว้เป็นที่อยู่อาศัยแก่วงศ์ญาติผู้หาที่อยู่ไม่ได้แต่ผู้ที่อยู่อาศัยไม่มีกรรมสิทธิ์ หากจำเป็นต้องขายหรือแลกเปลี่ยนที่ดินด้วยความประสงค์แห่งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ผู้จัดการ(มรดก)เอาเงินนั้นหาซื้อที่อื่นและจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ในพินัยกรรมโดยดีที่สุดที่จะทำได้ ดังนี้เมื่อผู้จัดการมรดกขายที่ดินดังกล่าวไปก็มีหน้าที่ต้องนำเงินไปซื้อที่ใหม่เพื่อให้วงศ์ญาติของเจ้ามรดกได้อยู่อาศัยตามข้อกำหนดในพินัยกรรม จะนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมาแบ่งให้แก่ทายาทเพื่อไปจัดซื้อที่อยู่ใหม่เอาเองหาได้ไม่เพราะมีผลเท่ากับถือเอาว่าทายาทผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นผู้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ซึ่งทำให้ที่ดินที่กำหนดไว้ตามพินัยกรรมให้เป็นที่อยู่อาศัยของวงศ์ญาติต้องสลายตัวไป แม้จะมีเจตนาแบ่งเงินให้ทายาทเพื่อไปจัดซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เอาเอง ที่ดินที่ซื้อใหม่ก็เปลี่ยนสภาพมิใช่เป็นที่รวมสำหรับวงศ์ญาติอาศัยอยู่ แต่กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทผู้ซื้อแต่ละคนซึ่งมีอำนาจหวงกันมิให้ทายาทหรือวงศ์ญาติอื่นๆ เข้าไปอยู่อาศัยอันเป็นการขัดต่อข้อกำหนดแห่งพินัยกรรม
การที่ผู้จัดการมรดกขายที่ดินที่ระบุในพินัยกรรมไปและต้องเอาเงินที่ขายได้จัดหาซื้อที่อื่นและจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์นั้นเป็นการหาที่ดินมาแทนที่ดินที่ขายไปซึ่งผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่หาใช่เป็นการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นใหม่ในขณะนี้นอกเหนือจากข้อกำหนดในพินัยกรรมไม่ จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้
ข้อความในพินัยกรรมดังกล่าวแล้ว ที่กำหนดให้ที่ดินที่ระบุไว้เป็นอาศัยสถานแก่วงศ์ญาตินั้น เจ้ามรดกมีเจตนาที่จะให้ที่ดินนั้นเป็นที่รวมสำหรับวงศ์ญาติ ผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยจะได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยต่อไปซึ่งหมายถึงทั้งวงศ์ญาติที่มีตัวอยู่ในขณะเจ้ามรดกถึงแก่กรรมและที่เกิดมาในเวลาข้างหน้า โดยไม่ประสงค์ให้ใครถือเอาที่ดินนั้นเป็นของตน และเพื่อมิให้ขัดกับหลักกฎหมายในเรื่องกรรมสิทธิ์และมรดกและให้มีผลบังคับได้ เจ้ามรดกจึงได้นำพินัยกรรมขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชโองการเพื่อจะได้มีผลใช้บังคับได้ตลอดไปโจทก์เป็นเหลนของเจ้ามรดกแม้จะเกิดหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ก็เป็นวงศ์ญาติคนหนึ่งที่มีส่วนจะได้รับประโยชน์ในการเข้าอยู่อาศัยในที่ดินตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกที่มิได้จัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรมเพื่อรักษาประโยชน์ของโจทก์ในฐานะวงศ์ญาติคนหนึ่งที่อาจได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้จัดการมรดกได้
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11-16/2515)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเหลนเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์เจ้ามรดก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2460 เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมกำหนดให้ที่ดินโฉนดที่ 4922 และ 4923 ให้คงเป็นสมบัติของเจ้ามรดกอยู่ตลอดไป เพื่อให้เป็นอาศัยสถานแก่วงศ์ญาติผู้หาที่อยู่มิได้ หากจำเป็นต้องขาย ขอให้ผู้จัดการมรดกเอาเงินนั้นหาซื้อที่อื่นและจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ พินัยกรรมนี้ได้มีพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 6 ให้ใช้ได้เป็นกฎหมาย ผู้จัดการมรดกได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้มีชื่อและนำเงินที่ขายได้แบ่งแก่ทายาท ขัดต่อข้อกำหนดในพินัยกรรมขอให้ห้ามจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินไปแบ่งให้แก่ทายาทแต่ให้นำไปซื้อที่ดินอื่น จัดให้วงศ์ญาติของเจ้ามรดกได้อยู่อาศัยต่อไป

จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยขายที่ดินเอาเงินเพื่อให้ทายาทไปซื้อที่ดินอยู่อาศัยตามความประสงค์ของบรรดาทายาทที่ได้ตกลงกัน ขณะนี้ข้อกำหนดในพินัยกรรมระงับสิ้นลงแล้ว

ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกัน แล้วสั่งงดสืบพยานและวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเหลนเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์เกิดหลังจากเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว 25 ปี โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมเป็นการเฉพาะตัวโดยตรง เพราะจะทำให้ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมนี้โดยไม่มีที่สิ้นสุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ห้ามจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินโฉนดที่ 4922 และ 4923 ตามพินัยกรรมไปแบ่งให้แก่ทายาท แต่ให้นำไปซื้อที่ดินอื่นใหม่แทนตามข้อกำหนดในพินัยกรรม

จำเลยฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ ได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 11 มิถุนายน 2460 ตามสำเนาเอกสารหมาย 1 ท้ายฟ้อง โดยกำหนดไว้ในพินัยกรรมข้อ 1 ว่าให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4922 และ 4923 ซึ่งอยู่ตำบลคลองเตย อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร คงเป็นสมบัติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ และกำหนดให้มีผู้ดูแลรักษาที่ดินทั้งสองโฉนดนี้ไว้เป็นที่อยู่อาศัยแก่วงศ์ญาติผู้หาที่อยู่ไม่ได้ แต่ผู้ที่อยู่อาศัยไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะถือว่าที่ดินนั้นเป็นของตนและทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองหาได้ไม่ กับได้กำหนดไว้ในข้อ 2 ว่า ถ้าที่ดินรายนี้จำเป็นต้องขายหรือแลกเปลี่ยนด้วยความประสงค์แห่งรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยประการใด ๆ ขอให้ผู้จัดการเอาเงินนั้นหาซื้อที่อื่นและจัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ในหนังสือฉบับนี้โดยดีที่สุดที่จะทำได้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สลักหลังท้ายหนังสือ (เอกสารหมาย 1) เป็นอันใช้ได้เหมือนหนังสือพินัยกรรมที่ได้ทำถูกต้องตามพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการ ห้ามมิให้ผู้พิพากษาตุลาการรับฟ้อง พิพากษาความอันเกี่ยวข้องด้วยทรัพย์สมบัติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ให้ผิดจากหนังสือพินัยกรรม ฯลฯ

เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2465พระยาอาทรธุระศิลป์ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2469 นายวิเชียร กุญชร ณ อยุธยา เป็นบุตรพระยาอาทรธุระศิลป์เกิด พ.ศ. 2447 และอยู่อาศัยในที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 4922 ตามฟ้อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2467 โจทก์เป็นบุตรนายวิเชียร กุญชร ณ อยุธยา เกิดพ.ศ. 2489 อยู่อาศัยในที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดเลขที่ 4923 ตามฟ้อง ซึ่งเป็นบ้านของมารดามาก่อน เมื่อถูกรื้อไปจึงมาอยู่บ้านนายวิเชียร กุญชร ณ อยุธยา บิดาตลอดมาจนบัดนี้ จำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4922 และ 4923 ตามฟ้องไปแล้วในราคา 16 ล้านบาท

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า เอกสารหมาย 2 เป็นพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีผลเด็ดขาดตามกฎหมาย เมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเองหรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิกเพิกถอนพระบรมราชโองการดังกล่าวจึงยังมีผลอยู่ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 681/2481 คดีระหว่างนางสาวสงวน พฤกษาลัยโจทก์ สำนักพระราชวัง กับพวก จำเลย ฉะนั้น พินัยกรรมของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ (เอกสารหมาย 1) ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชโองการตามเอกสารหมาย 2 จึงมีผลตามกฎหมายที่ยังใช้บังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นอยู่ได้ตลอดมาซึ่งศาลจะพิพากษาความอันเกี่ยวข้องด้วยทรัพย์สมบัติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ให้ผิดจากพินัยกรรมเป็นการขัดพระบรมราชโองการหาได้ไม่ และด้วยเหตุนี้ พินัยกรรมฉบับนี้จะเข้าลักษณะเป็นการก่อตั้งทรัสต์หรือไม่ จึงไม่จำต้องหยิบยกขึ้นวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปเพียงว่า

1. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และ

2. การที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินตามพินัยกรรมแบ่งให้แก่ทายาท เพื่อให้ไปจัดซื้อที่อยู่อาศัยเอง เป็นการชอบที่จะทำได้หรือไม่

ในปัญหาข้อแรกนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ข้อความในพินัยกรรม (เอกสารหมาย 1) ที่กำหนดให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4922 และ 4923 ได้เป็นอาศัยสถานแก่วงศ์ญาตินั้น เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์มีเจตนาที่จะให้ที่ดินทั้งสองโฉนดเป็นที่รวมสำหรับวงศ์ญาติผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย จะได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยต่อไป ซึ่งหมายถึงทั้งวงศ์ญาติที่มีตัวอยู่ในขณะถึงแก่อสัญกรรมและที่เกิดมาในเวลาข้างหน้า หาได้จำกัดเฉพาะวงศ์ญาติที่มีตัวตนอยู่ในขณะถึงแก่อสัญกรรมเท่านั้นไม่ ดังจะเห็นได้ว่า ถ้าเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์เจตนาจะให้มีผลแต่เฉพาะแก่วงศ์ญาติซึ่งมีตัวอยู่ในขณะถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ก็คงจะต้องระบุลงไว้โดยชัดแจ้งว่ามีใครบ้าง เพราะในขณะนั้นย่อมทราบดีว่าวงศ์ญาติคนใดไม่มีที่อยู่ซึ่งควรจะให้ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยหรือกำหนดตัวผู้รับลงไปในพินัยกรรมได้เลย แต่ที่ไม่กำหนดลงไว้เช่นนั้นก็เพราะมีเจตนาให้ที่ดินนั้นเป็นส่วนกลางเพื่อวงศ์ญาติทุกคนผู้หาที่อยู่อาศัยไม่ได้ จะได้ใช้เป็นที่อยู่ต่อไป โดยไม่ประสงค์ให้ใครถือเอาว่าที่ดินนั้นเป็นของตน และเพื่อมิให้ขัดกับหลักกฎหมายในเรื่องกรรมสิทธิ์และมรดก และให้มีผลบังคับได้ เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์จึงนำพินัยกรรมนี้ขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชโองการเพื่อจะได้มีผลใช้บังคับได้ตลอดไป ฉะนั้นแม้โจทก์จะเกิดหลังจากเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว 24 หรือ 25 ปีก็ตาม เมื่อโจทก์เป็นเหลนเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ โจทก์ก็เป็นวงศ์ญาติคนหนึ่งที่มีส่วนจะได้รับประโยชน์ในการเข้าอยู่อาศัยในที่ดินทั้งสองโฉนดตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องผู้จัดการมรดกที่มิได้จัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรม เพื่อรักษาประโยชน์ของโจทก์ในฐานะวงศ์ญาติคนหนึ่งที่อาจได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้จัดการมรดกดังกล่าวได้

สำหรับปัญหาข้อ 2 นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าตามพินัยกรรมข้อ 2 กำหนดไว้ว่า ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 4922 และ 4923เป็นที่อยู่อาศัยของวงศ์ญาติผู้หาที่อยู่ไม่ได้ ไม่ได้ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ทายาทหรือบุคคลใด ในกรณีที่จำเป็นต้องขายที่ดินนั้นไปก็ได้กำหนดไว้ในข้อ 2 ว่า ให้ผู้จัดการเอาเงินที่ขายได้ไปซื้อที่แห่งอื่นเพื่อให้วงศ์ญาติได้อยู่อาศัย อันเห็นได้ว่า จะต้องมีที่ดินแห่งใหม่มาแทนที่ดินที่ต้องขายอยู่เสมอไป การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกขายที่ดินทั้งสองโฉนดไปแล้วแบ่งเงินให้ทายาทเพื่อไปจัดซื้อที่อยู่ใหม่เองนั้น ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการถือเอาว่าทายาทผู้ได้รับเงินส่วนแบ่งคือผู้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองโฉนด จึงได้จัดการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินทั้งสองโฉนดนั้นให้แก่ทายาทนั้น โดยวิธีขายที่ดินแล้วเอาเงินแบ่งปันกัน ทำให้ที่ดินที่กำหนดไว้ตามพินัยกรรมให้เป็นที่อยู่อาศัยของวงศ์ญาติต้องสลายตัวไป แม้เจตนาในการแบ่งเงินจะเป็นไปเพื่อให้ทายาทไปจัดซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เอาเองก็ตาม ที่ดินที่ซื้อใหม่ก็เปลี่ยนสภาพ มิใช่เป็นที่รวมสำหรับวงศ์ญาติอาศัยอยู่ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมเสียแล้ว โดยกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทผู้ซื้อแต่ละคน ซึ่งย่อมมีอำนาจหวงกันมิให้ทายาทหรือวงศ์ญาติคนอื่น ๆ ผู้หาที่อยู่มิได้ เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินที่ซื้อมาใหม่ จึงเป็นการขัดต่อข้อกำหนดแห่งพินัยกรรม จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจะแบ่งเงินที่ขายได้ให้แก่ทายาทไปมิได้คงมีหน้าที่ต้องนำเงินไปซื้อที่ใหม่เพื่อให้วงศ์ญาติของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ได้อยู่อาศัยตามข้อกำหนดในพินัยกรรมข้อ 2 การซื้อที่ใหม่เป็นการหาที่ดินมาแทนที่ดินที่ขายไป ซึ่งจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้น ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น หาใช่เป็นการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นใหม่ในขณะนี้นอกเหนือจากข้อกำหนดในพินัยกรรมไม่ จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ไม่ได้

ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

Share