แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินระบุว่าผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ที่ ตั้งบ้านพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท. ผู้ตาย แสดงว่าผู้ร้องไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทเป็นส่วนตัว กรณี ดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องได้ที่ดินและบ้านพิพาทมาระหว่าง สมรสโดยการรับมรดกจากมารดาของตน ต่อมาผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดก ได้ขายที่ดินให้อ.เสร็จเด็ดขาดไปแล้วหลังจากนั้นอ. นำที่ดินไปแบ่งแยกขายให้แก่บุคคลภายนอก และโอนขายที่ดินที่เหลือ พร้อมบ้านพิพาทให้ผู้ร้อง เมื่อไม่ปรากฎว่าผู้ร้องนำเงินสินส่วนตัว ไปซื้อที่ดินและบ้านพิพาทคืนมาจึงฟังไม่ได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาท เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง แต่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตาม คำพิพากษาของจำเลยจึงมีสิทธินำ เจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมา ชำระหนี้แก่โจทก์ได้.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 50,499 บาท88 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ขอบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านสองชั้น จำนวน 1 หลัง เลขที่ 751 อ้างว่าเป็นของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องมิใช่ของจำเลย ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ทรัพย์ที่ยึดเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้องขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปล่อยบ้านพิพาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2531 ผู้แทนโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านสองชั้นเลขที่ 751 จำนวน 1 หลัง ตีราคาไว้ 70,000 บาทบ้านพิพาทปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 14229 ตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.5 และที่ดินแปลงดังกล่าวได้แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4772 ตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.4 บ้านพิพาทและที่ดินเดิมเป็นมรดกของมารดาผู้ร้อง ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของมารดารับโอนบ้านพิพาทและที่ดินดังกล่าวแล้วนำไปจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาพนมสารคาม เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ต่อมาผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของมารดาโอนขายที่ดินและบ้านพิพาทให้นายอุดม พุทธวิเศษสรรค์ นายอุดมนำไปจำนองแก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขาบางคล้า นายอุดมได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4772 ออกเป็น9 แปลง นำออกขายบุคคลภายนอกเหลือที่ดิน 1 แปลง พร้อมบ้านพิพาทนายอุดมจึงโอนขายกลับให้ผู้ร้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2530ปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนเอกสารหมาย ร.5 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า บ้านพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือไม่ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องเป็นพยานเบิกความว่า ผู้ร้องสมรสกับจำเลยเมื่อ พ.ศ. 2521 ครั้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2528 ผู้ร้องได้รับมรดกที่ดินและบ้านพิพาทจากมารดาผู้ร้อง โดยผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของมารดาตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 314/2527 ปรากฏตามภาพถ่ายคำสั่งศาลเอกสารหมาย ร.3 ต่อมาผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนขายที่ดินให้นายอุดมพุทธวิเศษสรรค์ โดยไม่ได้มีการซื้อขายกันจริง เมื่อที่ดินและบ้านพิพาทตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.5 โอนกลับมาเป็นของผู้ร้องอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2530 ผู้ร้องก็ไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนให้นายอุดม นายอุดมพยานผู้ร้องอีกปากหนึ่งเบิกความว่า ผู้ร้องรับมรดกเป็นที่ดินและบ้านพิพาทตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.4 ผู้ร้องโอนขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้พยานโดยไม่ได้ให้ค่าตอบแทน พยานได้แบ่งที่ดินออกเป็นแปลงย่อย9 แปลง พยานมอบอำนาจให้ผู้ร้องขายไป 8 แปลง เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ธนาคารเหลือที่ดิน 1 แปลง และบ้านพิพาทพยานโอนกลับให้ผู้ร้องตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.5 ข้อตกลงระหว่างพยานกับผู้ร้องรู้กันเพียง 2 คน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมายร.4 ระบุว่าผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ตั้งบ้านพิพาทในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนางทองเติม แช่มประเสริฐ ผู้ตาย แสดงว่าผู้ร้องไม่ได้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทเป็นส่วนตัว กรณีดังกล่าวยังไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องได้ที่ดินและบ้านพิพาทมาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกจากมารดาของตน ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ทำนิติกรรมอำพรางโอนขายที่ดินตามเอกสารหมาย ร.4 ให้นายอุดม โดยไม่มีการชำระราคาเพื่อให้นายอุดมนำที่ดินไปจำนองแก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาบางคล้าเพื่อนำเงินมาชำระหนี้จำนองที่ผู้ร้องเป็นหนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัดเพราะธนาคารดังกล่าวเชื่อถือนายอุดมยิ่งกว่าผู้ร้อง ภายหลังนายอุดมได้โอนคืนแก่ผู้ร้องนั้น ผู้ร้องก็มิได้นำเจ้าหน้าที่ธนาคารดังกล่าวมาเบิกความรับรองในข้อนี้ทั้งยังปรากฏตามเอกสารหมาย ร.4ว่านางทองเติมเคยนำที่ดินแปลงนี้ไปจดทะเบียนจำนองธนาคารกสิกรไทยจำกัด ไว้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2518 ครั้งหนึ่งแล้ว จึงไม่เชื่อว่าธนาคารกสิกรไทย จำกัด จะไม่เชื่อถือที่ดินหลักประกันและปฏิเสธไม่รับจำนองที่ดินดังกล่าวอีก ข้ออ้างของผู้ร้องไม่สมเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขายที่ดินให้นายอุดมเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว หลังจากนั้นนายอุดมนำที่ดินไปแบ่งแยกขายให้แก่บุคคลภายนอก และโอนขายที่ดินที่เหลือพร้อมบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องนำเงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินและบ้านพิพาทคืนมา จึงฟังไม่ได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านพิพาทออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.