คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1697/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งให้ ส. พนักงานเทศบาลสามัญชั้นโทดำรงตำแหน่งพนักงานประเมินภาษีโทและต่อมาโจทก์มีคำสั่งอีกฉบับหนึ่งแต่งตั้งให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานประเมินภาษีโทเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษี เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ดังนี้ ย่อมฟังได้ว่า ส. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีตามบทบัญญัติ มาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ส. จึงมีอำนาจที่จะประเมินภาษีโรงเรือนและแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีจากจำเลยได้และเมื่อ ส. ได้ไต่สวนตรวจตราก่อนทำการประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา24 โดยการไปตรวจดูบ้านทั้งสองหลังของจำเลยที่ทำเป็นหอพักและสอบถามจำนวนห้องกับอัตราค่าเช่าพร้อมทั้งมีหนังสือสอบถามไปทางกรมประชาสงเคราะห์ด้วยแล้วจึงทำการประเมินและส่งใบแจ้งการประเมินไปยังจำเลยการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนดังกล่าวจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีโรงเรือน เงินเพิ่มและดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 81,547.38 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในปัญหาว่าการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนรายพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่านายเสน่ห์เดี่ยววณิชย์ ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีตามกฎหมาย การที่นายเสน่ห์ทำการประเมินภาษีโรงเรือนและแจ้งการประเมินให้จำเลยชำระภาษีเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าโจทก์มีนายเสน่ห์เจ้าพนักงานผู้ประเมิน และนายธะนะกร คุณาวุฒิ หัวหน้างานพิจารณาอุทธรณ์ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เป็นพยานเบิกความประกอบกับเอกสารได้ความว่า โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งนายเสน่ห์ เดี่ยววณิชย์ พนักงานเทศบาลสามัญชั้นโทให้ดำรงตำแหน่งพนักงานประเมินภาษีโท เขตพระนครตามสำเนาคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 1523/2516 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2516 เอกสารหมาย จ.8 ต่อมาโจทก์มีคำสั่งที่ 1151/2517 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2517 ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 ให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานประเมินภาษีโท เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษี เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ดังนี้ย่อมฟังได้ว่า นายเสน่ห์ เดี่ยววณิชย์ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่และพนักงานเก็บภาษีตามบทบัญญัติมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 นายเสน่ห์จึงมีอำนาจที่จะประเมินภาษีโรงเรือนและแจ้งการประเมินเรียกเก็บภาษีจากจำเลยได้ ที่จำเลยฎีกาว่ารองปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการในตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตามคำสั่งเอกสารหมาย จ.8, จ.9 เพราะไม่ใช่ผู้ว่าราชการหรือรักษาการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้งตำแหน่งข้าราชการกรุงเทพมหานครไม่ปรากฏว่ามีตำแหน่งพนักงานประเมินภาษีโทนั้น ข้อนี้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การและมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีไม่ชอบ เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 ถึงมาตรา 24 โดยไม่ได้ไต่สวนตรวจตราก่อนทำการประเมินนั้น ได้ความตามคำของนายเสน่ห์เจ้าพนักงานผู้ประเมินและจำเลยเองว่า หลังจากจำเลยยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนแล้ว นายเสน่ห์ได้ไปตรวจดูบ้านทั้งสองหลังของจำเลยที่ทำเป็นหอพัก และสอบถามจำนวนห้องกับอัตราค่าเช่า พร้อมกันนั้นได้มีหนังสือสอบถามไปทางกรมประชาสงเคราะห์ด้วย แล้วจึงทำการประเมินและส่งใบแจ้งการประเมินไปยังจำเลย ถือได้ว่านายเสน่ห์ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ไต่สวนตรวจตราตามมาตรา 24 พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 แล้วก่อนที่จะทำการประเมินและแจ้งการประเมินไปให้จำเลยผู้รับประเมินทราบ การประเมินเรียกเก็บภาษีรายพิพาทชอบด้วยกฎหมาย”

พิพากษายืน

Share